กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อ “รัฐบาลลุง” งัดวิชาก้นหีบผ่าทางตันด้วยการ
ปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี ทำให้ก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อบูทเศรษฐกิจให้ฟื้น หลังรีดภาษีรายได้ไม่เข้าเป้า สะท้อนฝีมือบริหารสยามประเทศแบบข้ามาคนเดียวในยามวิกฤตของ “นายกฯลุง” ที่นับวันมีแต่เสื่อมถอยลง
วิกฤตหนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องปิดห้องคุยลับกับ “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะนำมาซึ่งมติขยายสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากที่กำหนดไว้เดิมอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี
ประเด็นที่ “นายกฯ ลุง” ต้องนัดคณะกรรมการฯ มาถกกันคร่ำเคร่งเนื่องจาก “พื้นที่การคลัง (Fiscal Space)” ของประเทศเหลืออยู่จำกัดมาก หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มของรัฐบาลจะทำได้น้อยมาก หลังจากรัฐบาลได้กู้เงินตามพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หรือ พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฯ รวม 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท
ว่ากันตามสภาพความสุ่มเสี่ยง หากไม่เคาะเพิ่มกรอบกู้หนี้สาธารณะ นอกจากรัฐบาลลุงจะกระเป๋าแฟ่บหมดตูด ส่งผลกระทบกับโครงการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้ อีกทั้งไม่มีเม็ดเงินบูทเศรษฐกิจสู้วิกฤตโควิด-19 แล้ว ยังเสี่ยงต่อการทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งรัฐบาลลุงประกาศใช้บังคับเพื่อยกระดับวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลให้มั่นคงแข็งแกร่ง โดยกำหนดกรอบเพดานเงินกู้ไม่ให้เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี
ดูจากตัวเลขที่กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (กันยายน 2564) สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 58.96% นั่นหมายถึงแม้สัดส่วนยังต่ำกว่า 60% ของจีดีพี แต่ก็ใกล้ปริ่มน้ำเต็มที เมื่อคิดถึงว่าในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังต้องกู้เงินตามพ.ร.บ.โควิด เพิ่มเติม ที่ยังเหลือวงเงินอีก 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อถึงเวลากู้เงินในส่วนนี้จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศไทยพุ่งเกิน 60% ของจีดีพี หลุดกรอบจากที่กำหนดไว้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้คำอธิบายว่า เหตุผลที่ต้องเพิ่มเพดานเงินกู้สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และถือเป็นการทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ ที่กำหนดให้ทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี
เช่นเดียวกับ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เห็นความจำเป็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินมาตรการของภาครัฐรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยประเมินว่าความเสี่ยงต่างๆ ยังต่ำ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว เช่น มาตรการรัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายอย่างโครงการคนละครึ่ง มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ค้ำประกันการจ้างงาน และจะต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้กลับมาที่ 60% ให้ได้ในระยะต่อไปเพื่อรักษาวินัย
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บันทึกประเทศไทย ต้องจดจารเอาไว้ว่า หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จนถึงปัจจุบัน หนี้สาธารณะของไทยไม่เคยเกิน 60% ต่อจีดีพี โดยปี 2542 อยู่ที่ 59.22% ต่อจีดีพี จากนั้นสัดส่วนลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ กระทั่งถึงวิกฤตโควิด-19 นอกจากรัฐบาลลุงต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำเงินมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 2 ฉบับ รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว มูลค่าจีดีพีในประเทศยังลดลงตามภาวะเศรษฐกิจด้วย ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะพุ่งเกือบชนเพดานแล้ว โดยที่ยังมองไม่เห็นหนทางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การขยายเพดานเงินกู้บวกับผลงานการกู้แหลกในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอายุร่วม 7 ปี ทำให้นายกฯลุง ได้ฉายาจากสื่อว่าเป็น “จอมกู้แห่งลุ่มเจ้าพระยา” ไปแล้วนั้น รัฐบาลมีหนี้เงินกู้สาธารณะเกือบเต็มแมคอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท บวกกับเงินกู้สู้โควิดอีก 1 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา และอีก 5 แสนล้านบาทเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้วงเงินกู้ที่นายกฯลุง ก่อหนี้ไว้มากมายถึง 4.6 ล้านล้านบาท เป็นมรดกหนี้ให้คนรุ่นต่อไปที่ดูทรงแล้วไม่ค่อยรักนายกฯ ลุงสักเท่าไหร่
แต่ก็อย่างว่ารัฐบาลจะไม่หาเม็ดเงินใหม่เข้ามาก็ไม่ได้ เพราะการจัดเก็บภาษีรายได้ของแผ่นดิน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กรกฎาคม 2564) ตามรายงานของกระทรวงการคลัง พลาดเป้าอย่างแรง โดยรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.91 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 216,878 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 10.2% โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 142,767 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9% กรมสรรพสามิต 67,595 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12.9% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 24,282 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ขณะที่กรมศุลกากร มีแนวโน้มจัดเก็บรายได้ดีขึ้นจากการส่งออกและนำเข้าที่ขยายตัว
อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ฯ ย่อมมีทั้งฝ่ายหนุนและเชียร์ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน บทวิเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองบวกว่า หลายประเทศทั่วโลกมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แทบทุกประเทศทั่วโลกมีการอัดฉีดมาตรการการคลังเยียวยาประชากรและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น จะเห็นยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนนำมาสู่การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะของไทย ศูนย์กสิกรไทย มองว่า จะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น รัฐบาลยังสามารถชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดไม่ทันจึงมีอยู่จำกัด นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมากเอื้อให้ต้นทุนภาระหนี้ในระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ
จุดเน้นสำคัญนั้น อยู่ที่การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาวต้องมีแผนจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในอนาคต ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีความเสี่ยงมากหรือน้อยอยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากขยายตัวดีก็ไม่น่ากังวลเท่ากับเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเติบโตต่ำ บทสรุปสุดท้ายจึงอยู่ที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
ทางด้าน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ในขณะนี้ถือว่าเหมาะสม เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะในระดับ 60% ถือว่าคาบเส้นมากเกินไป โดยที่ผ่านมาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ลดลงจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เพดานหนี้ต่อ GDP จะแคบลงอีก นอกจากนี้ การขยายเพดานการกู้สามารถทำได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตัวเลขหนี้ภาครัฐของไทยใช้นิยามที่มาตรฐานสูงกว่าสากล โดยรวมหนี้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีจำนวนกว่า 8 แสนล้านบาท เข้าไปด้วย ทำให้ตัวเลขโดยรวมสูงกว่าปกติถ้าวัดตามมาตรฐานสากล
เช่นเดียวกันกับ หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่างออกมาหนุนรัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะ ตามข้อเสนอของภาคเอกชน โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะจ่ายหนี้ได้ และไม่กระทบต่อระบบการคลัง ดูจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่กู้เงินไอเอ็มเอฟก็มีเสียงคัดค้านจะไม่มีเงินจ่ายหนี้แต่สุดท้ายก็จ่ายจนหมด ขณะนี้จำเป็นต้องมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเม็ดเงินที่จะกู้เพิ่มต้องเตรียมนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่กิจกรรมเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาเพราะมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น
ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สนับสนุนการอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและประชาชน ที่ต้องเร่งกระตุ้นกำลังซื้อในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องวางไว้ในการขับเคลื่อนให้ต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าหากสิ้นปีนี้การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนครบ 70% พร้อมกับการเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจปี 2565 จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน อย่าง นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ออกหน้ารับว่าเป็นไปตามคาด หนีไม่พ้นต้องกู้เพิ่ม อย่าตื่นตระหนกหรือดรามา สำคัญอยู่ที่กู้มาแล้วเอาไปทำอะไร เงินถึงมือประชาชนหรือไม่ นี่คือคำถามที่ประชาชนอยากรู้อย่างที่เคยพูดในสภาฯ ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า การจัดสรรงบในภาวะวิกฤตนั้น กระสุนมีจำกัด ทุกนัดต้องเข้าเป้า ไม่ใช่ว่าไฟไหม้บ้านอยู่ แต่กลับเอางบไปจัดสวน
แต่ลูกพรรคประชาธิปัตย์ก็มีแซะในส่วนของพ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ที่นายเกียรติ บอกว่ายังดีที่มีคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร คอยตรวจสอบการใช้เงิน แต่ดูแล้วทุกอย่างยังเป็นราชการ เบิกจ่ายช้า ขาดความยืดหยุ่น ส่วนเงินกู้ซอฟท์โลนของแบงก์ชาติ ผู้ประกอบการที่เครดิตไม่ดีเพราะพิษโควิดก็เข้าไม่ถึง จนน่าห่วงว่าเงินที่กู้มาแก้ปัญหาจนหนี้สาธารณะแตะเพดาน 60% นั้นไม่ตอบโจทย์
ข้อสังเกตของนายเกียรติ เข้าทางพรรคฝ่ายค้าน ตามถ้อยแถลง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกมธ.ตรวจสอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งช้า ทั้งชุ่ย ที่ช้าเพราะเม็ดเงินใน 5 แสนล้าน ลงสู่ระบบเพียง 5 หมื่นกว่าล้าน ขณะที่เศรษฐกิจเสียหายจากล็อกดาวน์เข้มข้นเดือนละ 1.5-2.5 แสนล้านบาท เมื่อเงินที่อัดฉีดเข้าระบบน้อยกว่าเงินที่หายไปถึง 15 เท่า แบบนี้เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้ อีกทั้งแผนงานในวงเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นโครงการจ่ายทิ้ง ใช้แล้วหมดไปมองไม่เห็นการเอาไปสร้างอนาคตประเทศ
ในทางการเมืองฝ่ายค้านก็ตรวจสอบรัฐบาลกันไป ส่วนรัฐบาลก็เดินหน้าบริหารประเทศแก้ไขวิกฤตกันไป โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดย นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูฯ (แผนงานที่ 3) วงเงิน 170,000 ล้านบาท ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ มีกลุ่มเป้าหมายคือ สถานประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงานและวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน