'เอเชียประกันภัย' จากต้นตำรับประกันภัย 3 พลัส สู่การถูก คปภ.เบรกรับประกันชั่วคราว

'เอเชียประกันภัย' จากต้นตำรับประกันภัย 3 พลัส สู่การถูก คปภ.เบรกรับประกันชั่วคราว

  • 0 ตอบ
  • 59 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Cindy700

  • *****
  • 3330
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 


เปิดประวัติเอเชียประกันภัย ที่ถูก คปภ.ลงดาบรายล่าสุด หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว จากต้นตำรับประกันภัย 3 พลัส ที่ซ่อมทั้งรถเขารถเราจนฮือฮา กลายมาเป็นบริษัทที่สภาพคล่องไม่เพียงพอ ผลพวงจากขายประกันโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ

รายงาน

จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) (เอเชียประกันภัยฯ) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2564 เป็นต้นไปหลังปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานต่อนายทะเบียนว่าบริษัทฯ มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

อีกทั้งปรากฏอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก จึงให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สิน และให้เร่งแก้ไขปัญหาฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน

แต่ คปภ. ยังคงให้บริษัทฯ เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด

สำหรับ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2493 เป็นบริษัทประกันภัยของกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์ด้วยทุนที่ชำระแล้ว 30 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 9 ก.ย. 2546 นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ได้เข้าถือหุ้นและบริหารงาน กระทั่งปี 2548-2549 ได้คิดค้นกรมธรรม์ที่เรียกว่า "ประกันภัย 3 พลัส" จากเดิมประกันภัยชั้น 3 คุ้มครองเฉพาะบุคคลภายนอก กรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือซ่อมรถคู่กรณี (รถของเราซ่อมเอง) ให้สามารถซ่อมรถเราเองได้ แต่ต้องเป็นรถชนรถด้วยกันเท่านั้น

ด้วยข้อดีที่ราคาประหยัดกว่าประกันภัยชั้น 1 และชั้น 2 แม้จะจ่ายเพิ่มจากประกันภัยชั้น 3 ไปบ้าง เพียงแค่ไม่คุ้มครองกรณีรถหาย รถไฟไหม้ หรือภัยธรรมชาติเท่านั้น ทำให้ประกันภัย 3 พลัส ได้รับความนิยมจากผู้ใช้รถ ที่ไม่ค่อยมีความเสี่ยงเรื่องรถหาย จอดในบ้านมีรั้วรอบขอบชิด ขับรถมานานไม่ค่อยมีอุบัติเหตุ ก็เลือกประกันรถตัวนี้ และสร้างชื่อเสียงให้กับเอเชียประกันภัย กลายเป็นว่าบริษัทอื่นออกผลิตภัณฑ์นี้ตามกันไปด้วย

สำหรับนายจุลพยัพ ศรีกาญจนา เป็นบุตรชายของนายพยัพ ศรีกาญจนา เดิมนายพยัพเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาคเนย์ประกันภัย เสียชีวิตเมื่อปี 2533 แต่เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มผู้ถือหุ้น ทำให้ครอบครัวศรีกาญจนาแยกตัวออกมาทำธุรกิจใหม่ โดยเทคโอเวอร์เอเชียประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยขนาดเล็กของกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์ เมื่อปี 2546 



ต่อมาวันที่ 23 ธ.ค. 2551 ธนาคารเพื่อการพัฒนาธุรกิจ DEG (KFW) จากประเทศเยอรมนี เข้าร่วมทุนกับเอเชียประกันภัย ตามสัดส่วนที่กฏหมายกําหนดสูงสุด 24.9% เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันภัยของบริษัทฯ และเสริมฐานะความมั่นคงทางการเงิน โดยมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท กระทั่งวันที่ 6 ก.พ. 2556 เอเชียประกันภัย แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด

นอกจากนี้ ยังพัฒนาเทคโนโลยีการทำเคลมแบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชัน A-Serve (Click2Claim) และการแจ้งพิกัดการเกิดอุบัติเหตุ A-Serve (Click2Call) ติดตามสถานะการเดินทางพนักงานเซอร์เวย์ได้แบบเรียลไทม์, การสำรวจภัยโดยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Asia Roadside Assistance) การส่งกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ E-Policy การส่งใบเตือนต่ออายุผ่านสมาร์ทโฟน ฯลฯ

ปี 2562 เอเชียประกันภัย เพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มอีก 300 ล้านบาท และปี 2563 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 650 ล้านบาท

ปัจจุบัน เอเชียประกันภัยมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด เช่น แผนประกันสุขภาพคุ้มครองผลกระทบจากการได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19, แผนประกันสุขภาพ, ประกันหน้าจอมือถือ, ประกันเดินทางต่างประเทศ, แผนประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยมีสำนักงานใหญ่อาคารรีเจ้นท์เฮ้าส์ ชั้น 12 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

จากแบบรายงานเปิดเผยข้อมูลบริษัท ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2564 พบว่า เอเชียประกันภัยมีสินทรัพย์รวม 4,867.73 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 684.50 ล้านบาท มีรายได้รวม 491.06 ล้านบาท ส่วนหนี้สินพบว่า มีหนี้สินจากสัญญาประกันภัย 2,672.36 ล้านบาท เจ้าหนี้บริษัทประกันภัยต่อ 1,478.25 ล้านบาท และอื่นๆ รวมหนี้สิน 4,395.78 ล้านบาท ส่วนรายได้พบว่า มีรายได้รวม 491.06 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 485.76 ล้านบาท กำไรสำหรับงวด 28.60 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ งบกระแสเงินสด มีเบี้ยประกันภัยรับจากการรับประกันภัยโดยตรง 1,889.12 ล้านบาท แต่พบว่าค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัยโดยตรง ขาดทุน 720.79 ล้านบาท เงินลงทุนในหลักทรัพย์ ขาดทุน 78.10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยอื่น ขาดทุน 222.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ขาดทุน 200.30 ล้านบาท

อ่านประกอบ : แบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลบริษัทประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2564
วงการประกันภัยสั่นสะเทือน กับประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จากสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันนับหมื่นราย แถมยังมีกระแสโซเชียลฯ ว่ามีคนซื้อประกันโควิดแล้วชวนเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อ เพื่อหวังจะได้เคลมเงินประกันนับแสนบาท เอาไปกินใช้สบายๆ ส่งผลทำให้ยอดเคลมประกันโควิดเพิ่มสูงขึ้น บริษัทประกันภัยแต่ละแห่งเริ่มประกาศหยุดขายประกันโควิด หนึ่งในนั้นคือ เอเชียประกันภัย หยุดขายประกันโควิด ตั้งแต่ 17.00 น. วันที่ 30 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกาศบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดแก่ลูกค้า เกิดกระแสความไม่พอใจแก่ผู้เอาประกัน แถมทำเอาวงการประกันภัยปั่นป่วน กระทั่ง คปภ. ต้องออกมาเบรกไม่ให้สินมั่นคงประกันภัยทำแบบนั้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังหลายบริษัทเริ่มประสบปัญหาผู้เอาประกันทำเรื่องเคลมสินไหมประกันโควิดแล้วไม่ได้เงิน ถึงกับรวมตัวชุมนุมหน้าบริษัท เดอะวันประกันภัย ย่านรัชดาภิเษก เพื่อทวงถามเงินเอาประกันไปบ้างแล้ว

ที่ผ่านมา เอเชียประกันภัยฯ เป็นหนึ่งใน 4 บริษัท ที่ได้รับการร้องเรียนว่า จ่ายเคลมเงินประกันโควิดล่าช้า โดยมีอีก 3 บริษัท คือ เดอะวันประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย และสินมั่นคงประกันภัย ตามมาด้วยกระแสข่าวปลดพนักงานและเตรียมเลิกกิจการ แต่บริษัทฯ ชี้แจงว่าเป็นนโยบายตามโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจ รวมถึงยังมีการปิดสาขาและลดพื้นที่สำนักงานใหญ่เพื่อควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทน ยืนยันว่าไม่มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด

วิกฤตบริษัทประกันภัยทั้งประเทศแทบล้มทั้งยืน นับจากนี้ต้องดูว่า เอเชียประกันภัยฯ จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?