สสส.-สช.-ทส. เปิดเวทีสมัชชาสุขภาพ เสนอ
แนวทางแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ดึงภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคมมีส่วนร่วม ชง ร่างมติสมัชชาสาธารณะ ดันนโยบาย บังคับใช้กฎหมาย-เสริมแนวคิดลดเผา-การจัดการเชิงพื้นที่-ส่งต่อองค์ความรู้-พัฒนานวัตกรรม มุ่งลดผลกระทบสุขภาพประชาชนตรงจุด
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดงาน “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาคการเมือง ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมงานกว่า 400 คน
โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จากข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ทุกภูมิภาคมีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยภาคเหนือตรวจวัดได้สูงสุดอยู่ที่ 166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 5 เท่า การจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ จึงเน้นการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สวมบทบาทเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้กำหนด และผู้รับประโยชน์จากนโยบายสาธารณะ โดยร่วมพิจารณาร่างมติสมัชชาต่อประเด็นมลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางการรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในปี 2565
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดจากสาเหตุสำคัญ 5 ข้อ ดังนี้ 1.แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่ระบายมลพิษเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 2.การเผาในที่โล่งจากการเกษตร 3.การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานและทันต่อสถานการณ์ 4.ข้อจำกัดด้านข้อมูลวิชาการเพื่อการบริหารจัดการ และ 5.ประชาชน รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ยังไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จึงต้องเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดข้อเสนอทางนโยบายที่มีความสอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขเฉพาะแต่ละพื้นที่
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยิ่งยวด จึงมุ่งสานพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบาย ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับสภาลมหายใจ 8 จังหวัดภาคเหนือ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทำงานอย่างทุ่มเท แก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในระดับภูมิภาค เช่น ลดการเผาภาคเกษตร จัดทำแนวกันไฟชุมชน สานพลังประเทศเพื่อนบ้านลดปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ดังนั้น การร่วมกันกำหนดทิศทางนโยบายเพื่อผลักดันการจัดการปัญหาพีเอ็ม 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายที่จะหายใจด้วยอากาศสะอาดอย่างเท่าเทียมกัน จะสามารถสะท้อนปัญหา ความต้องการ วิธีแก้ไข ที่มาจากความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับชาติด้วยมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
“สมัชชาสุขภาพ เห็นชอบมติสมัชชาต่อประเด็นมลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มุ่งสร้างพื้นที่กลางของทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในทุกมิติครอบคลุมประเด็นด้านกฎหมายและนโยบาย ด้านการจัดการป้องกันและลดปัญหาจากต้นเหตุที่สำคัญ ด้านการขับเคลื่อนบริหารจัดการเชิงพื้นที่และชุมชนเป็นฐาน ด้านวิชาการพัฒนาองค์ความรู้ ข้อมูล และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยข้อตกลงร่วมหรือพันธะสัญญานี้ใช้เป็นแนวทางดำเนินการและติดตามอย่างต่อเนื่อง ของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายสมัชชาทุกภาคส่วน รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานของ สสส. เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายชาติวุฒิ กล่าว