คลังขยายเพดานหนี้ 70% ชั่วคราว 10ปี จี้รัฐอัดฉีดเงินฟื้นฟูธุรกิจเร่งด่วน

คลังขยายเพดานหนี้ 70% ชั่วคราว 10ปี จี้รัฐอัดฉีดเงินฟื้นฟูธุรกิจเร่งด่วน

  • 0 ตอบ
  • 70 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Shopd2

  • *****
  • 2300
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




คลังชง “ประยุทธ์” ประธานคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง ขยับเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของจีดีพี เผยเงื่อนไขขยายเพดาน “ชั่วคราว” 10 ปี ในช่วงวิกฤต สอดรับกับผู้ว่า ธปท.กระทุ้งรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านดูแล ประสานเสียงจำเป็นต้องทำเพื่อเร่ง “ฟื้นฟู” เศรษฐกิจ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ย้ำโจทย์ใหญ่รัฐบาลต้องกำหนดแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด ที่ผ่านมามีแต่ “เยียวยา” ด้าน “สมหมาย” อดีตขุนคลังชี้ต้องมีแผนหารายได้ ชูขึ้น VAT ถูกกฎหมายเชื่อถือได้ “ดร.สมประวิณ” หนุนขยายเพดานก่อหนี้อัดฉีด “ฟื้นฟู-ปรับตัว”ภาคธุรกิจ

ชงขยายเพดานหนี้ 70%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะแล้ว แต่จะต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รองประธาน พิจารณาเห็นชอบ ในการประชุมวันที่ 20 ก.ย.นี้

เบื้องต้นน่าจะขยายเพดานที่ระดับไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% และการกู้เงินใกล้เต็มเพดานแล้ว ดังนั้นหากจะขยายแค่ 65% ก็อาจจะต่ำเกินไป

“คลังไม่ได้มีปัญหาที่จะขยายเพดานหนี้ แค่รอให้ผ่านช่วงอภิปรายไม่ใว้วางใจไปก่อน ปัจจุบันยังมีช่องว่างให้ขยายเพดานได้อีก ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 100% ถือว่าไทยยังมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เหมาะสมอยู่ และในช่วงวิกฤตเช่นนี้ หากจะขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70-75% เพื่อดูแลประชาชน ก็สามารถทำได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังฯ” แหล่งข่าวกล่าว

มาตรการ “ชั่วคราว” 10 ปี
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงเงื่อนไขการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น “ไม่เกิน 70%” ว่า เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะเป็นการขยายแบบ “ชั่วคราว” เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขต้องกลับมาอยู่ในต่ำกว่า 60% ของจีดีพีภายใน 10 ปี และต้องเสนอแผนการเพิ่มรายได้ภาษีเป็น 20% ของจีดีพี ภายใน 10 ปี ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-5% และกรอบรายจ่ายงบประมาณไม่เกินปีละเท่าไรเข้ามาด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาต่อจากรัฐบาลนี้ บริหารการเงิน การคลังภายใต้ข้อจำกัดและกรอบดังกล่าว และป้องกันการทำนโยบายประชานิยม แจกเงินเพื่อสร้างฐานเสียง และต้องแยกมาตรการการเงินที่ไม่มีประสิทธิผล กับการให้เงินสวัสดิการ ซึ่งจำเป็นและควรมีการปรับระบบสวัสดิการให้ทั่วถึงและมีความยั่งยืนด้วย ซึ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีความจำเป็น ไม่ทำไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงต้นทุนในการบริหารจัดการหลังวิกฤตโควิด

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างนโยบายการเงินกับความยั่งยืนทางการคลัง โดยมีช่องว่างหรือ “พื้นที่ทางการคลัง” เตรียมไว้สำหรับรับวิกฤตในโลกหลังยุคโควิด ซึ่งอาจจะเกิดวิกฤตอีกเมื่อไรก็ได้ จะได้ไม่ซ้ำรอยที่ผ่านมา เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ต้องลด VAT เป็น 7% จนปัจจุบันไม่เคยปรับขึ้น ต้องต่ออายุทุกปี เพราะไม่มีรัฐบาลไหนขึ้นภาษีแล้วเสียคะแนนเสียงทางการเมือง

อดีตขุนคลังชี้จำเป็นต้องทำ
นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ในช่วงรัฐบาล คสช. กล่าวว่า ในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะมีความจำเป็น หากมานั่งกังวลเรื่องนี้ จะเป็นเรื่องไม่ใช่เรื่อง และจะแสดงว่ารัฐบาลทำงานไม่เป็น ดังนั้น เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องขยาย

“สถานการณ์ขณะนี้แย่เต็มทีแล้ว และรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาช่วยประชาชนแล้ว โดยรัฐจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนอีกมาก” นายสมหมายกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อขยายเพดานหนี้แล้ว ต้องดูว่า จะกำกับดูแลไม่ให้เพิ่มมากเกินไปได้หรือไม่ หรือจะควบคุมให้อยู่ในระดับพอสมควรได้อย่างไร เช่น อยู่ในกรอบระหว่าง 60% ไม่เกิน 65% เนื่องจากหนี้สาธารณะเป็นตัวหารในจีดีพี ดังนั้น หากจีดีพียิ่งไม่โต ก็จะยิ่งแย่ แต่หากจีดีพีของไทยขยายตัวมากขึ้น ก็จะไม่มีปัญหา


ขึ้นภาษีหาช่องเพิ่มรายได้
“การขยายเพดานหนี้สาธารณะ เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องทำ ส่วนควรจะอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ ก็บอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐ แต่จริง ๆ แล้วการขยายเพดานหนี้ก็น่ากลัว ถ้ารัฐไม่ได้บอกว่าอีกด้านจะหารายได้เพิ่มอย่างไร เพื่อให้สมดุลกับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดบริษัทจัดอันดับเรตติ้ง ก็จะลดเครดิตเรตติ้งประเทศไทย ถึงตอนนั้นเราก็ใกล้เตาเผาศพแล้ว ฉะนั้น รัฐจะต้องมีการดูแลในเรื่องรายได้เพื่อมาทดแทนด้วย ไม่ใช่บอกว่าจะขยายอย่างเดียว” นายสมหมายกล่าว

สำหรับแนวทางการเพิ่มรายได้นั้น อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า จะต้องไปทำให้รัฐมีรายได้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพื่อให้มีความสามารถในการไปใช้หนี้ อาทิ เข้าไปดูในเรื่องภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างช้าในปี 2565 ควรจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 2%

นอกจากนี้ ก็ควรบริหารสัมปทานของรัฐ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้น เพื่อมาดูแลประชาชน

ศุภวุฒิชี้โจทย์อยู่ที่แผนใช้เงิน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะ หรือการกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ปีที่แล้ว และประเด็นสำคัญคือแผนการใช้เงินเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแผนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปีที่แล้วเศรษฐกิจติดลบไปแล้ว -6.1% ปีนี้ถ้าโตแค่ 1% ก็เหนื่อยแล้ว

“ที่ผ่านมารัฐบาลทำแต่มาตรการเยียวยาแรงงาน คนตกงาน แต่ยังไม่ได้มีการดูแลผู้ประกอบการ ผู้จ้างงาน ซึ่งเป็นผู้เสียภาษี เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นที่สภาอุตฯออกมาบอกว่ารัฐบาลสั่งอย่างเดียว แค่ขอชุดตรวจ ATK ยังไม่มีการสนับสนุน และก็ยังไม่เห็นแผนหรือนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนผู้จ้างงานเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเดิน ปล่อยให้ผู้ประกอบการรับภาระปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งขนาดปัญหาใหญ่มาก ปล่อยให้ภาคธุรกิจดิ้นรนไปเอง”

รัฐบาลต้องกำหนดทิศทาง
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า รัฐบาลต้องมีแผนว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ไปในทิศทางไหน เพื่อที่จะได้มีการจัดสรรงบประมาณหรือเงินกู้ลงไปได้ตามแผน เพื่อคัดท้ายให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลทำเหมือนก่อนจะมีโควิด ยังพูดถึงแต่การลงทุนในอีอีซี เหมือนกับว่าโควิดไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ทำทุกอย่างเหมือนเดิม

“ภาคท่องเที่ยวก่อนโควิด ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 12% ของจีดีพี หลังโควิดจะยังพึ่งพาภาคท่องเที่ยว 12% ของจีดีพีได้หรือ วางแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร หรือจะปรับไปพึ่งพาภาคส่งออกด้วยนโยบายอะไร ทุกอย่างไม่มีคำตอบ เหมือนตอนนี้รัฐบาลมองว่าวัคซีนคือคำตอบ ที่จะทำให้เปิดประเทศแล้วเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนได้ โดยไม่มีการวางแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอะไรเลย และปล่อยให้เอกชนดิ้นรนกันไป”

หนุนก่อหนี้ “ฟื้นฟูธุรกิจ”
ด้าน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หากจะขยายไปที่ระดับ 70% ต่อจีดีพี ถือเป็นระดับที่โครงสร้างประเทศยังรองรับได้ เนื่องจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังค่อนข้างดี จึงควรขยายกรอบเพดานหนี้ไว้เผื่อไว้




ซึ่งในต่างประเทศทุกคนมีการปรับเพิ่มหมด หากประเทศไทยไม่ขยายเพดานก็จะพลาดสร้างโอกาสการเติบโตและรับมือโลกหลังโควิด-19 เพราะการก่อหนี้เพิ่ม หรือการใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าจะเป็นการสร้างรายได้และการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน

ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรีที่เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายใต้เม็ดเงิน 7 แสนล้านบาท อยู่ในมาตรการเยียวยาเท่านั้น แต่ยังต้องมีการกระตุ้นเพิ่มสำหรับ “มาตรการฟื้นฟู” เนื่องจากการปิดร้านค้า หรือโรงแรมเป็นเวลานาน จำเป็นต้องการเม็ดเงินในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง รวมถึง “มาตรการปรับตัว” รับโลกหลังโควิด-19 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สหรัฐ ที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า new economy เป็นต้น

“มาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับตัว ที่วิจัยกรุงศรีเสนอ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินพอสมควร ดังนั้น การขยายเพดานหนี้เผื่อไว้เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งมองว่านักลงทุนเองก็จะเข้าใจในการขยายกรอบครั้งนี้ แต่การขยับเพดานแล้วจะต้องคิดและวางแผนก่อนว่าการกู้เงินไปใช้เพื่ออะไร และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะในท้ายที่สุดจะช่วยในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตระยะยาว แต่หากกู้เงินมาเพื่อเป็นเงินโอนให้กับประชาชน ตรงนั้นจะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว และไม่สร้างประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจ”

ดร.สมประวิณกล่าวอีกว่า นอกจากวางแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบเพดานที่ขยายแล้ว จะต้องวางแผนเรื่องการหารายได้ เพื่อชำระหนี้ ซึ่งปกติรายได้จะกลับมาเข้าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตได้ โดยรายได้จะมาจากการขยายฐานภาษี ซึ่งจะมาจากกิจกรรมของคนที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบอีกจำนวนมาก

โดยจากงานวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุไว้ว่า การจัดเก็บภาษีควรจะอยู่บนฐานสินทรัพย์มากกว่าฐานของรายได้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการช่วยกระจายความมั่งคั่งของประเทศ และลดการกระจุกตัวของกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง หากมีการจัดเก็บภาษีในรูปแบบดังกล่าว

ผู้ว่า ธปท.กระทุ้งรัฐบาลกู้เพิ่ม
ขณะที่เมื่อ 16 สิงหาคม 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนถึงรัฐบาลว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ได้สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัว และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งระบุว่าเม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7% ของจีดีพี

ในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างรวดเร็ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

นอกจากนี้กรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม จะพบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใน 10 ปีข้างหน้า (2574) จะต่ำกว่า กรณีที่รัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่มถึง 5% เพราะการกู้และใส่เงินเข้าในตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจเพิ่มฐานภาษีและทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้ลดลงในอนาคต