3ธุรกิจไทย ยังเหนื่อย ! รอ กำลังซื้อจีน คืนชีพ

3ธุรกิจไทย ยังเหนื่อย ! รอ กำลังซื้อจีน คืนชีพ

  • 0 ตอบ
  • 87 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Prichas

  • *****
  • 2104
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ส่องฐานะทางการเงิน 6 เดือนแรกปี 2564 โดยเฉพาะไตรมาส 2 ของ 3 หุ้นธุรกิจไทย ในธุรกิจเกี่ยวข้องกับแดนมังกรยังเหนื่อย !! หลังยอดขายที่เคยฝากไว้บน กำลังซื้อคนจีน ยังไม่กลับมาเช่นเดิม ด้าน เอกชน กลับมารุกตลาดมากยิ่งขึ้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก !

'คนจีน'!! ถือเป็นหนึ่งใน 'กำลังซื้อ' ที่สำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการไทยในช่วงที่ผ่านมา จนกลายมาเป็น 'ผู้ซื้อหลัก' ไปแล้ว ทว่าตอนนี้ผู้ซื้อหลักดังกล่าวกำลังฉุดรั้งตัวเลข 'ยอดขาย' ให้ผลการดำเนินงานให้ 'ยังไม่สดใส!' เฉกเช่นเดิม 

จากเมื่อวันวาน... กลุ่มธุรกิจคนไทยเคยเอ็นจอยกับ 'กำลังซื้อของคนจีน' ที่นำพาความเฟื่องฟูสุดๆ หนึ่งในนั้นต้องมี '3 หุ้นธุรกิจไทย' บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ถูกกฎหมายเชื่อถือได้ที่มีสัดส่วน 'ยอดขาย' พึ่งพิงกำลังซื้อจากคนจีนเป็นหลัก !! นั่นคือ บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD , บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY และ บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้าจีนทั้งที่มาท่องเที่ยวในไทย และขยายตลาดไปปักหมุด ณ ดินแดนมังกร

ทว่า เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รุมเร้าและลากยาว ส่งผลให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องพยายาม 'สกัดกั้น' เพื่อหวังหยุดตัวเลขการแพร่ระบาดของผู้ติดโควิด-19 ให้ลดน้อยที่สุด ด้วยการออกมาตรการต่างๆ มา 'จำกัด' ประชาชนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) หรือ การให้ประชาชนทำงานอยู่บ้าน 

จนกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้กำลังซื้อทั่วโลกเริ่มชะลอตัว ! ยิ่งเฉพาะคนจีนที่เป็น 'ผู้ซื้อหลัก' ของหลากหลายอุตสาหกรรมในไทย

อ่านข่าว : พาณิชย์ เร่งเครื่องดันส่งออก มั่นใจ ปี 65 ยังโตแรง หนุนฟื้นวิกฤตโควิด

3ธุรกิจไทย ยังเหนื่อย ! รอ กำลังซื้อจีน คืนชีพ


สอดคล้องกับ สถานการณ์ 6 เดือนแรกปี 2564 ตัวเลขผลประกอบการ 3 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ DDD-BEAUTY-TKN 'ไม่สดใส' ลดลงหรือแม้แต่ยังขาดทุน โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2564 ที่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนไม่เบา โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่า หุ้น DDD มี 'ขาดทุนสุทธิ' 141.65 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ปี 2563 มี 'กำไรสุทธิ' 48.04 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิ 107.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนแรกปีก่อน 37.18 ล้านบาท ตามลำดับ

หุ้น BEAUTY ไตรมาส 2 ปี 2564 มีขาดทุนสุทธิ 35.17 ล้านบาท ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 61.36 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรก มีขาดทุนสุทธิ 50.30 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน 101.04 ล้านบาท 

และ หุ้น TKN ไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 22.23 ล้านบาท ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 88.91 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 78.44 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 174.59 ล้านบาท 

ดังนั้น สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า ทำให้ 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) ของธุรกิจปรับตัว 'ลดลง' ไปด้วย หากย้อนกลับไปดูความมั่งคั่งของธุรกิจเมื่อปี 2560 เทียบกับปัจจุบัน (13 ก.ย.2564) จากระดับหมื่นล้านเหลือพันล้านบาท สะท้อนผ่านตัวเลข 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (Market Capitalization) โดย หุ้น DDD มีมาร์เก็ตแคปปี 2560 อยู่ที่ 27,966 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 5,594.82 ล้านบาท (13 ก.ย.64) หุ้น BEAUTY มาร์เก็ตแคปปี 2560 อยู่ที่ 62,456.88 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 4,660.65 ล้านบาท (13 ก.ย.64)และ หุ้น TKN มาร์เก็ตแคปปี 2560 อยู่ที่ 28,842 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 9,798 ล้านบาท (13 ก.ย.64) 


'อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า 'เถ้าแก่น้อย' รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทได้เพิ่มน้ำหนักการทำ 'ตลาดต่างประเทศ' มากขึ้น รองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะตลาดใน 'ประเทศจีน' ที่ถือเป็นตลาดหลักของ TKN นั้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงในการทำตลาด โดยแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย (Distributor) เพิ่มอีก 1 ราย เพื่อกระจายสินค้าเข้าสู่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) และช่องทาง E-Commerce จากเดิมที่มีตัวแทนจำหน่ายได้แก่ Pan Orion Corp รับผิดชอบการจัดจำหน่ายสินค้าเข้าสู่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) จึงทำให้ TKN มั่นใจกว่า การผสานกำลังร่วมกันระหว่าง 2 ตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดส่งออกต่อจากนี้

เช่นเดียวกับตลาดในสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเริ่มเปิดประเทศในช่วงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น บริษัทได้เดินสายออกบูธงานแสดงสินค้า (Roadshow Exhibition) ตามสถานที่ต่างๆ คาดว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากภาวะค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือรวมถึงราคาค่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังสูงที่ TKN ยังต้องบริหารจัดการให้เอื้อประโยชน์และสนับสนุนแผนการเติบโตด้านผลการดำเนินงานให้ดีที่สุด

ขณะที่ ทิศทางตลาดในประเทศ ยังเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักและกำลังซื้อชะลอตัว ดังนั้น TKN จะบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ให้รัดกุมในทุกด้าน รวมถึงติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อแผนงาน TKN 

ในเบื้องต้นประเมินว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยบริษัทมีแผนนำเสนอสินค้าใหม่พร้อมทำแคมเปญส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างโมเมนตัมให้กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่กลุ่มธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนหรือ Quick Service Restaurant (QSR) ของบริษัทในเครือ จะมุ่งขยายช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่มากขึ้น

ขณะที่ บมจ. บิ้วตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เปิดเผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายประเทศเผชิญกับการระบาดในรอบใหม่ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งตลาดในประเทศ จากการระบาดในรอบนี้ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่ารอบก่อนๆทำให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัด 25 สาขา

ส่วนตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดจีน ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ที่เป็นสินค้าจีนมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนใช้สินค้าแบรนด์จีน และเข้มงวดการนำเข้าสินค้าต่างประเทศเข้ามาขายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ความนิยมในสินค้าต่างประเทศ 'ลดลง' ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทจึงต้องกลับมาทำการตลาดใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ ใน 3 ด้านหลัก เพื่อรับวิกฤติดังกล่าว คือ ด้านแรก การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ด้านที่สอง การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ และด้านที่สาม การขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายตัวสูง โดยมุ่งเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีโอกาสขยายตัว สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะการเปิดสาขาร้านค้าปลีก เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากฐานลูกค้าในประเทศ และสามารถสร้างตลาดที่ครอบคลุมในระยะยาว

ทั้งนี้ จากการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าว ช่วยลดผลกระทบจากสภาวะต่างๆได้ เพื่อรองรับกับสถานการณ์และสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป โดยคาดว่าหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มปรับตัวดีขึ้น โครงสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัทจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานทั้งในแง่การจำหน่าย การบริหารจัดการ และลดต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวกลับมาดีขึ้น

'ปิยวัชร ราชพลสิทธิ์' ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อยอดขายมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 3 ปี 2564 ทำให้บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายรายได้รวมปีนี้เป็นเติบโต 20-30% จากเดิมที่คาดเติบโต 25-30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1,490.62 ล้านบาท

อย่างไรตาม บริษัทได้ดำเนินการด้วยการเน้นการลดค่าใช้จ่ายโดยรวมให้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเช่าคลังสินค้า และ ค่าขนส่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจมาไว้ที่เดียวกัน ซึ่งคาดจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ไตรมาส 3 และ เห็นผลชัดเจนในไตรมาส 4 ปี 64 รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และ การลดค่าใช้จ่ายในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสปาร์คเคิลมาผลิตที่โรงงานของบริษัทเอง โดยจะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยเฉลี่ยลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 64 เป็นต้นไป

สำหรับตลาดในฟิลิปปินส์คิดเป็นสัดส่วน 20% ของพอร์ตรวม โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 64 ยอดขายยังเติบโตได้ดี แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะสูงกว่าประเทศไทย และ มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ผู้บริโภคในฟิลิปปินส์มีพฤติกรรมใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ช่วงเทศกาล shopping 6.6 และ 7.7 แบรนด์ของบริษัทติดอันดับผลิตภัณฑ์ขายดีทุกรายการทั้งสเนลไวท์ และ OXECURE

ในขณะเดียวกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัทยังเจาะตลาดด้วยแบรนด์สปาร์คเคิล ทั้งยาสีฟันแปรงสีฟัน และ น้ำยาบ้วนปาก โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ดังนั้นภาพรวมผลการดำเนินงานของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่า ยอดขายจะยังเติบโตได้ 20-30% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 บริษัทประเมินว่า ยอดขายจะฟื้นตัวได้ดีจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ตามการกระจายวัคซีน และ คาดว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะฟื้นตัวตามนโยบายรัฐ ซึ่งจะช่วยหนุนยอดขายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว ประกอบกับ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ และ การปรับขนาดของผลิตภัณฑ์ให้คุ้มค่า คุ้มราคามากขึ้น ตลอดจนปิดดีลการควบรวมกิจการ (M&A) 1 ดีล ภายในสิ้นปีนี้ 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนรองรับในส่วนกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการขาย การออกผลิตภัณฑ์ และ การปรับขนาดผลิตภัณฑ์ เช่น แบรนด์ SOS ที่เป็นแบรนด์ได้รับความนิยมกลุ่มวัยรุ่นเกาหลี และ ญี่ปุ่น ซึ่งปกติแล้วราคาจะเฉลี่ย 200-300 บาท จึงปรับขนาดลงจาก 50 มิลลิลิตร ลงเหลือ 25-30 มิลลิลิตร เพื่อกระตุ้นยอดขายควบคู่กับการทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป

รวมทั้งมีการออกแบบสินค้าใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น แบรนด์ N Life Plus ได้แก่ โปรไบโอติก Ginger plus shot และผลิตภัณฑ์ดูแลผม ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการในเทรนด์ปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคสนใจเรื่องสุขภาพมากกว่าความสวยงาม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร+Zinc ในรูปแบบสเปรย์เพื่อพ่นปากและ ลำคอ นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 64 และ ต้นปี 65 เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับกัญชงกัญชาเพิ่มเติมด้วย