“เอ็นไอเอ” เปิดตัวสำนักงานภูมิภาคแห่งแรก ยกระดับนวัตกรรมใน 11 จังหวัดภาคเหนือ ปักหมุด ‘เชียงใหม่’ สู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาคนวัตกรรม เชื่อมหน่วยงานท้องถิ่น ขับเคลื่อนนวัตกรรมระดับภูมิภาค สู่การเป็นพื้นที่นวัตกรรมหลากหลาย ทั้งเป็นบ้านหลังใหม่ของสตาร์ทอัพทั่วโลก
โดยเอ็นไอเอวางแผนพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่และภูมิภาค ภายใต้กลไก 3 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนด้านการเงิน (Finance) การสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายภูมิภาค (Network) และการบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent) พร้อมเดินหน้าต่อยอดผลักดันเชียงใหม่สู่ “จังหวัดศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาคภาคเหนือ” ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะเกิดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสิ้น 263 ล้านบาท และก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของภาคเหนือ (GPP) เพิ่มขึ้น 0.042% และเกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.0011%
แปลงโฉมล้านนา
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า เอ็นไอเอเริ่มพัฒนากิจกรรมด้านนวัตกรรมมาเกิน 15 ปี เน้นการทำงานผ่านการให้ทุนกับผู้ประกอบการนวัตกรรมในพื้นที่ พร้อมทำงานร่วมกับธุรกิจ สมาคม จนมาถึงจุดเปลี่ยนพบว่าการให้ทุนอย่างเดียวไม่เพียงพอและโครงสร้างพื้นฐานหลายส่วนในระดับภูมิภาคก็เริ่มจะก่อกำเนิดขึ้น อีกทั้งหนึ่งในปัญหาหลักสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของไทยคือ การกระจุกตัวของการพัฒนาอยู่เฉพาะในเมืองหลวง เด็กจบใหม่จำนวนมากต้องย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่กรุงเทพฯ แทนที่จะได้อยู่พัฒนาบ้านเกิดของตน
ดังนั้น การจัดตั้งสำนักงานภาคเหนือ หรือ NIA
Lottovip Northern Regional Connect จึงเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรม และสร้างโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของย่านเมือง หรือระเบียงนวัตกรรม ให้มีความโดดเด่นก่อให้เกิดกิจกรรม และการลงทุนทางด้านนวัตกรรมต่อไป
ย่านบ่มเพาะนวัตกรรมแห่งใหม่
ดังนั้น สำนักงานภาคเหนือ ถือเป็นสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกของ NIA ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีความพร้อมสู่การเป็นเมืองนวัตกรรม เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมหลากหลาย มีสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาคที่สามารถเป็นแหล่งผลิตนวัตกรได้
และมีสภาพแวดล้อมที่พร้อมต่อการเป็นบ้านหลังใหม่ของดิจิทัลโนแมดและสตาร์ทอัพจากทั่วโลก โดยสำนักงานจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลไกด้านนวัตกรรมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างกิจกรรมทางด้านนวัตกรรมในพื้นที่
โดย สำนักงานภาคเหนือตั้งอยู่ภายในอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ดำเนินงานครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รวมเป็น 11 จังหวัด ขนาดพื้นที่รวม 108,102 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 21% ของประเทศ รวมประชากรว่า 7.8 ล้านคน คิดเป็น 12% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้เชียงใหม่ยังเป็นศูนย์กลางของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ
และวางเป้าหมายว่าในปี 2569 จะมีศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกใน 4 จังหวัด ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดโดยรอบทั้ง 11 จังหวัดนี้ เกิดย่านนวัตกรรมในภูมิภาคขึ้นอีก 2 แห่ง เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 3,000 อัตรา มีการเข้าถึงนวัตกรรมทางด้านสังคมของตัวแทนชุมชนไม่น้อยกว่า 400 คน
เกิดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสิ้น 263 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของภาคเหนือ (GPP) เพิ่มขึ้น 0.042% และเกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.0011%
ซึ่งในภูมิภาคนี้มีความพร้อมนั่นคือ การรวมตัวกันของอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ การท่องเที่ยว นวัตกรรมสังคม และดีพเทคสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังมีมหาวิทยาลัยในภูมิภาค 16 แห่ง อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ 7 แห่ง และย่านนวัตกรรม 2 ย่าน จึงถือได้ว่าในภูมิภาคนี้มีความพร้อมของยุทศาสตร์
‘ฮับ’ นวัตกรระดับภูมิภาค
พันธุ์อาจ อธิบายเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม และยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมในส่วนภูมิภาคยังมีประเด็นท้าทายอยู่ 7 ประเด็นสำคัญ ที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่
1. การเพิ่มวิสาหกิจฐานนวัตกรรม ที่เพียงพอต่อการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง “ระบบนวัตกรรม”
2. การเพิ่มจำนวนนวัตกรในระบบนวัตกรรมของไทยมีความเก่ง และความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
3. การใช้ประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน ทางนวัตกรรมและการเข้าถึงบริการทางนวัตกรรมในทุกภาคส่วน
4. การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในระบบภูมิภาค
5. การทำให้ กฎ ระเบียบ และ นโยบาย เป็นเรื่องง่ายกับกระบวนการทางนวัตกรรม
6. การเป็นชาตินวัตกรรมที่ “คนไทย” และ “นานาชาติ” ยอมรับ
7. การทำให้ระบบนวัตกรรมไทย “ตอบสนอง” ต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้วยนวัตกรรม อาทิ ฝุ่นควัน
ซึ่งเอ็นไอเอได้มีการวางแผนแนวทางพัฒนาผ่านกลไก 3 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนด้านการเงิน การสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายภูมิภาค และการบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะ แต่ทั้งนี้การดำเนินงานไม่สามารถทำได้เพียงองค์กรเดียวจึงได้มีการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรนวัตกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Innovation Thailand Alliance) เพื่อผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นเมืองนวัตกรรมตัวอย่างของไทยและภูมิภาค ต่อไป
เพื่อนำไปสู่ความพร้อมในการเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่หลากหลาย พร้อมในการเป็นแหล่งผลิตนวัตกรจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาค พร้อมในการเป็นบ้านหลังใหม่ของ Digital Nomand และสตาร์ทอัพจากทั่วโลก พร้อมเป็นเบ้าหลอมนวัตกรรม และไลฟ์สไตล์แคปปิตอลของภูมิภาค และพร้อมเป็นแซนด์บ็อกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการนำร่องไปสู่การขยายผลในอนาคต
ด้าน วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม เผยถึงการกลไกสนับสนุนด้านการเงินว่า จุดเด่นของเอ็นไอเอคือ การทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งการเงิน โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจทำธุรกิจนวัตกรรมเพื่อก้าวกระโดดในแง่ของการสร้างรายได้ใหม่ๆ ฉะนั้นผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค ภาคเหนือมีสัดส่วนได้รับทุนสนับสนุนจำนวนมากทั้งสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจนวัตกรรม จึงทำให้ภาคเหนือเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งสำนักงานได้ทำการเชื่อมโยงแหล่งทุนต่างๆที่เหมาะสมกับการพัฒนาผู้ประกอบการ อาทิ หน่วยงานภาครัฐที่มีหลากหลายกระทรวง หรือแม้กระทั่งภาคเอกชน และนักลงทุน ทำให้ที่ผ่านมาภาคเหนือมีการให้ทุนสนับสนุนมากกว่า 78 ล้านบาท ซึ่งจากการเทียบในและภูมิภาคพบว่าภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในแง่ของการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้โดดเด่นกว่าภาคอื่น สัดส่วนผู้ประกอบการภาคเหนือแบ่งออกเป็นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี เกษตรและอาหาร ประมาณ 16 ราย ส่วนดิจิทัลและบริการ 34 ราย และทางฝั่งของภาคการผลิต ประมาณ 9 ราย ดังนั้นการดำเนินการทั้งหมดนี้จะเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคเติบโตอย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้ อาจารย์ วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ คณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดมุมมองถึงนวัตกรรมเพื่อสังคมและคุณภาพชีวิตยุค 5G ว่า มหาวิทยาลัยเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่บ่มเพาะนวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม การขจัดพีเอ็ม 2.5 ทั้งมีการพัฒนาในพื้นที่มหาวิทยาลัย และขยายสู่ในชุมชน
สำหรับนวัตกรรมเพื่อสังคมทางมหาวิทยาลัยได้เป็นโหนดขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคเหนือตอนบน 1 หน้าที่ของโหนดคือ ต้องแสวงหาผู้ประกอบการหรือบุคคลที่สนใจเข้าร่วมโครงการจากนั้นจะมีการให้ทันสนับสนุนธุรกิจ และเครือข่ายพี่เลี้ยง ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายในภาคเหนือและระบบนิเวศนวัตกรรม จากการสนับสนุนภายใต้ระยะเวลา 2 ปี ได้สนับสนุนทุนไป 11 ผลงาน ส่วนในปีนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน 17 ผลงาน ดังนั้นทุนที่ให้ไปไม่เกิน 3 แสนบาท ต่อผลงาน โดยที่ผู้ขอรับทุนร่วมสมทบทุนไม่น้อยกว่า 10% อีกทั้งภายใต้การดำเนินงานจะมีระบบพี่เลี้ยงและสื่อต่างๆเพื่อผลักดันผลงานอีกด้วย
โดยผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สนใจได้แก่ 1.ยกระดับสถานประกอบการ ผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ๆ 2.ต้องคำนึงถึงวิถีชุมชน พร้อมกับชูจุเด่นอัตลักษณ์ท้องถิ่น อาทิ เชิงวัฒนธรรม คุณค่าและมูลค่าเพิ่ม 3.นวัตกรรมพร้อมใช้ มีการรับรองมาตรฐาน 4.มีประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเชิงธุรกิจ