นางณชธร มโนปัญจสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง เปิดเผยถึงขั้นตอนการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน ว่า
ผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งออกผลไม้ไปจีน จะต้องเริ่มต้นจากการขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทย โดยต้องดำเนินการเรื่องอนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้ากับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อให้ได้บัตรประจำตัวผู้ส่งออกไว้ใช้ในการออกหนังสือรับรองและใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการส่งออกจากประเทศไทย และต้องยื่นขอเอกสารใบรับรองปลอดโรคพืชจากกรมวิชาการเกษตร
ทั้งนี้ เมื่อได้ใบรับการอนุญาตเป็นผู้ออกสินค้าไทยแล้ว การส่งออกสินค้าแต่ละชนิดก็ยังมีขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกที่แตกต่างกัน โดยหากเป็นพืชผลทางการเกษตร จำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มเติมประกอบการส่งออกกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่องการกำหนดชนิดหรือประเภทของผลไม้ที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออก ระบุให้ผลไม้ที่ส่งออกไปต่างประเทศ หากประเทศที่นำเข้านั้นต้องการใบรับรองปลอดโรคพืช สารตกค้าง หรือแมลง ผู้ส่งออกสามารถขอใบรับรองดังกล่าวได้ที่กรมวิชาการเกษตร
ส่วนการเตรียมเอกสารสำหรับใช้ในการนำเข้ามายังจีน นอกจากการเตรียมเอกสารใบรับรองปลอดโรคของไทยแล้ว ยังต้องเตรียมเอกสาร เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าประเทศจีนได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบในการนำเข้าของจีนด้วย โดยเฉพาะข้อกำหนดด้านสุขอนามัยผลไม้ที่จะนำเข้ามายังจีนที่ผู้นำเข้าจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนโดยหน่วยงานศุลกากรจีนที่มีหน้าที่ดูแลด้านสุขอนามัยและการตรวจสอบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้นำเข้าผลไม้ของจีนจะต้องมีเอกสารใบอนุญาตการนำเข้าผลไม้เพื่อยื่นขอนำเข้าด้วย สำหรับผู้ส่งออกที่ยังไม่เคยมีลูกค้าหรือผู้นำเข้าในจีนมาก่อนควรเริ่มจากการตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าของผลไม้ของผู้นำเข้าจีนก่อน เพื่อใช้เป็นผู้ยื่นขอการนำเข้าผลไม้มายังจีนได้
ทางด้านพิธีการศุลกากรจากกรมศุลกากรส่งออกสินค้าจากไทย เมื่อสินค้าได้รับการรับรองในการส่งออกและมีใบอนุญาตใช้เพื่อเตรียมพร้อมในการนำเข้าผ่านหน่วยงานจีนแล้ว เพื่อให้สินค้าออกจากประเทศไทยอย่างถูกต้อง ยังจำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารใบขนส่งสินค้าขาออก (กศก.101) เอกสารใบราคาสินค้า Invoice (ตามจำนวนของใบขนขาออกที่ยื่นทั้งหมด) เอกสารPacking list แสดงรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ และอาจมีเอกสารอื่นๆ ตามที่กรมศุลกากรต้องการ โดยขั้นตอนพิธีการศุลกากรนี้อาจมีขั้นตอนและมีการเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจจะใช้บริการของบริษัทชิ้ปปิ้งที่มีบัตรผ่านศุลกากรเพื่อดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรส่งออกแทนในนามของบริษัท
สำหรับด่านนำเข้าผลไม้ ปัจจุบันมีด่านขนส่งสินค้าผลไม้ไทยเข้ามายังจีนทั้งหมด 4 ด่าน ประกอบด้วย 3 ด่าน ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้แก่ 1.ด่านโหยวอี้กวน 2.ด่านตงซิง 3.ด่านรถไฟผิงเสียง และ 1 ด่านในมณฑลยูนนาน คือ ด่านบ่อหาน โดยด่านบ่อหาน มีการเปิดให้บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้ตามปกติ โดยขนถ่ายสินค้าแบบจุดต่อจุดแยกสินค้าและคนขับรถ พร้อมฆ่าเชื้อรถขนส่งสินค้าและตรวจเชื้อคนขับรถอย่างละเอียด พร้อมยกระดับการจัดระเบียบการขนส่งอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมในตลาดจีนอยู่แล้ว เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ส้มโอ และมะพร้าว เป็นต้น โดยผลไม้ไทยสามารถส่งออกมายังจีนได้มากถึง 22 ชนิด แต่มีเพียงผลไม้ไม่กี่ชนิดที่มีการนำเข้าจริง ทำให้ผลไม้ของไทยชนิดอื่นๆ ยังคงมีโอกาสในการเข้ามาทำตลาดในจีน โดยเกษตรกรหรือผู้ส่งออกจะต้องศึกษาและเข้าใจความต้องการผลไม้ของผู้บริโภคชาวจีน และต้องให้ความสำคัญกับการคุมเข้มด้านคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผลไม้ไทยเหนือคู่แข่ง เพราะปัจจุบัน จีนมีการอนุญาตให้ประเทศในอาเซียนส่งออกผลไม้ได้เพิ่มเติม เช่น ลูกแพร์และมะพร้าว จากฟิลิปปินส์ มังคุด จากเวียดนาม และกล้วย จากกัมพูชา เป็นต้น ส่งผลให้ไทยมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกจะต้องมีเจ้าหน้าที่ ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ เพื่อให้การทำการค้าร่วมกันประสบผลสำเร็จ เพราะผู้นำเข้าจีนส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และการขอหนังสือรับรองฉลาก China Inspection Quarantine : CIQ และการตรวจสอบส่วนผสมของสินค้าบริโภคของจีนค่อนข้างเข้มงวด ผู้ผลิตต้องการเข้ามาทำตลาดที่จีน จะต้องมีการศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีนอย่างเคร่งครัด ส่วนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือชื่อแบรนด์ก่อนเข้ามาทำตลาดจีน ผู้ประกอบการต้องการขยายตลาดสู่จีน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือชื่อแบรนด์ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ แม้ว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจีนมีขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจีนก็ตาม ขณะเดียวกัน ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนมีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีการขนส่งแบบแช่เย็นแช่แข็ง ทำให้ต้องใช้เวลาในการสุ่มตรวจมากขึ้น จึงต้องวางแผนให้ดี