วันนี้(11 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวภายหลังจากการลงพื้นที่เยี่ยมชมและให้กำลังใจกับ
บุคลากรผู้ปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ว่า “สำหรับจุดเด่นที่สำคัญและเป็นลักษณะเฉพาะนอกเหนือจากโรงพยาบาลสนามอื่นๆ สิ่งที่สรพ.ต้องชื่นชมโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ คือการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทีมงานสหวิชาชีพต่างๆ อาทิ ทีมวิศวกรที่มาช่วยออกแบบระบบไอทีในการดูแลผู้ป่วย มีนักสังคมสงเคราะห์ช่วยดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีทีมล่ามในการแปลภาษาเพื่อช่วยสื่อสารกับผู้ป่วยชาวต่างชาติ มีนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียด รวมถึงการให้บริการรับ-ส่งผู้ป่วยจากแท็กซี่ที่เคยเป็นผู้ป่วยร่วมเข้ามาเป็นจิตอาสา ซึ่งถือเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกันในทุกมิติ นอกเหนือจากการนำแนวคิดตามมาตรฐาน HA มาใช้ในการบริหารจัดการและวางระบบงานในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างดีด้วย จุดเด่นหลักๆ คือ การบริหารจัดการ การเลือกอาคารที่มีความเหมาะสมมีสภาพแวดล้อมที่ดีไม่อยู่ใกล้ชุมชน นอกจากนี้ยังมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย”
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของไทย ก่อตั้งช่วงต้นปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติหรือโรงพยาบาลหลัก โดยได้นำแนวทางตามมาตรฐาน HA มาปรับใช้ทั้งในส่วนของการจัดการโครงสร้างผู้บริหารรวมถึงการจัดการระบบผู้ป่วย ซึ่งเน้นความปลอดภัยของบุคลากรและผู้ป่วยเป็นหลัก ที่สำคัญยังคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในชุมชนโดยรอบ ด้วยการเลือกอาคารที่อยู่ห่างไกลมีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนภายในอาคารแยกโซนผู้ป่วยและบุคลากรอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบ UV ฆ่าเชื้อในลิฟท์ และควบคุมการกำจัดขยะติดเชื้อ รวมถึงการเติมคลอรีนในท่อระบายน้ำเสีย เพื่อไม่ให้เชื้อโรคปะปนกับน้ำในท่อระบาย
รศ.นพ.พฤหัส กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ได้ปรับบทบาทให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นใน Wave3และWave4 โดยเปิดรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยสีเหลือง จำนวน 400 เตียง แต่เนื่องจากขณะนี้มีระบบ Home Isolation จึงมีการลดเตียงลงเหลือเพียง 200 เตียง และตั้งเป้าดูแลผู้ป่วย Home Isolation ให้ได้จำนวน1,400 ราย/วัน เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยด่านแรกซึ่งจากการปรับแผนดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลักลดลง อย่างไรก็ตามหลังจากนำระบบรักษาตนเองที่บ้านมาใช้กับผู้ป่วยสีเขียว ทำให้สถิติผู้ป่วยที่รักษาโควิดในโรงพยาบาลมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยที่ดูแลตนเองที่บ้าน ดังนั้นแม้มียอดผู้ติดเชื้อหมื่นกว่ารายต่อวัน หากใช้แผนดังกล่าวก็สามารถรับมือได้