บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย สานต่อโครงการ “
ส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อสนับสนุนช่างชุมชน ให้มีโอกาสนำความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม โดยได้คัดเลือกสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่เข้ารอบกว่า 10 ผลงาน โดยผลงานที่เข้ารอบจะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานในเบื้องต้น พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอบรมแบบ 4 มิติ (ทักษะด้านเทคนิควิศวกรรม, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การตลาดและการบริหารจัดการต้นทุนราคา) พร้อมโอกาสในการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อยกระดับนวัตกรรมและขยายผลสู่ระดับประเทศ
ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (ขวา) และ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซ้าย)
ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (ขวา) และ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซ้าย)
ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนช่างชุมชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อต่อยอดทั้งในด้านการพัฒนาทักษะโดยเฉพาะในด้านวิศวกรรม รวมทั้งเงินทุนสำหรับพัฒนาผลงานเพื่อให้เกิดคุณค่าต่อชุมชนและสังคม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้รูปแบบการดำเนินโครงการต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ ในปีนี้ ทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวดยังคงสะท้อนถึงความสามารถและศักยภาพของคนไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างเหลือเชื่อ ช.การช่างและพันธมิตรยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการในปีนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพร้อมสานต่อโครงการดี ๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต”
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ล้วนสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน ให้ดีขึ้นได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้สภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งทั้ง 10 ผลงานที่เข้ารอบถือเป็นตัวอย่างของการประยุกต์นวัตกรรมให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตได้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้นได้ ทาง NIA ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้ารอบ และชื่นชมช่างชุมชนทุกคนที่ได้ส่งสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมมาร่วมประกวด และหวังว่าการสนับสนุนทั้งเงินทุนและองค์ความรู้จากโครงการ จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้ทุก ๆ ผลงานเกิดการต่อยอดที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศได้”
สำหรับผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย
•Smart farm IOT นวัตกรรมที่เกษตรกรสร้างเองได้ โดยนายนิรันดร์ สมพงษ์ จ.นครราชสีมา - ระบบฟาร์มอัตโนมัติราคาถูกสำหรับเกษตรกรรายย่อย ด้วยชุดควบคุมการทำงานอัตโนมัติระบบ IOT ที่สามารถสั่งงานจากระยะไกลด้วยมือถือ ช่วยลดแรงงาน ลดต้นทุน พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์สู่เกษตรในชุมชนให้สามารถทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น
•กับดักแมลงโซลาร์เซลล์ โดยนายชำนาญ ด้วงสโน จ.นครปฐม - อุปกรณ์ดักจับแมลงช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถเคลื่อนย้ายไปปักไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในแปลงเกษตรได้ตามความต้องการ อุปกรณ์จะเก็บสะสมพลังงานไฟ้ฟ้าในเวลากลางวันเพื่อเปิดไฟล่อแมลงในเวลากลางคืน และยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชให้กับเกษตรกรอีกด้วย
•เตาเผาถ่านกัมมันต์ โดยนายสมชาย ประกลาง จ.นครราชสีมา - ตัวเตาได้รับการพัฒนาให้สามารถเผาถ่านหรือเผาขยะที่ความร้อนสูงถึงระดับ 1,000 องศาเซลเซียส สร้างขึ้นจากสแตนเลสเกรด 304 ปลอดสนิม ใช้การเผาไหม้สมบูรณ์เก็บกักความร้อนได้ดี ปล่อยควันน้อย ช่วยลดมลพิษในการกำจัดขยะในพื้นที่ห่างไกล และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย
•ซาเล้งโซลาร์เซลล์ โดยนายวิชัย เข็มทอง จ.ราชบุรี - โซลาร์เซลล์แบบเคลื่อนที่สำหรับใช้ในพื้นที่ทางการเกษตร ไม่ต้องลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบประจำที่หลายชุด ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และยังสามารถแบ่งใช้งานร่วมกันในชุมชนได้
•เครื่องผลิตเทียนอัตโนมัติระดับชุมชน โดยนายสมศรี ภูพันนา จ.เลย - เครื่องจักรในการผลิตเทียนรูปแบบต่าง ๆ สร้างขึ้นจากเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น นำมาดัดแปลงสำหรับการผลิตเทียนในเชิงพาณิชย์ โดยเป็นการสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้หญิง คนชรา และผู้ด้อยโอกาส ในการผลิตเทียนเพื่อส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ
•เครื่องผลิตบล็อกปูถนนขนาดเล็ก โดยนายเวชสวรรค์ หล้ากาศ จ.เชียงใหม่ - เครื่องผลิตบล็อคปูถนนที่ใช้วิธีการเขย่าแม่พิมพ์เพื่อให้วัสดุอัดแน่นและมีความแข็งแรง โดยนำเศษขยะพลาสติกในชุมชนมาอัดเป็นส่วนผสมการผลิตบล็อค ถือเป็นการลดปริมาณขยะในชุมชน ช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างทางเท้า ชุมชนสามารถผลิตบล็อกปูถนนเพื่อใช้ได้เอง
•รถเข็นดัดแปลงสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการยากไร้ โดยนายสถิตเทพ สังข์ทอง จ.นครปฐม - รถเข็นดัดแปลงโดยกลุ่มอาสาสมัคร ใช้รถเข็นเก่าจากห้างสรรพสินค้า นำมาซ่อมแซมดัดแปลงและมอบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปแจกจ่ายให้กับผู้สูงอายุ และผู้พิการยากไร้ อีกทั้งลดภาระของผู้ดูแล
•กระเป๋าและเสื้อรีไซเคิลจากป้ายไวนิลเก่า โดยนายณัฐวุฒิ ศรีอาจ จ.ขอนแก่น - สินค้ากระเป๋า, ถุงหิ้ว และเสื้อ ผลิตจากป้ายไวนิลเก่า โดยนำมาตัดเย็บและสานให้มีลวดลายสวยงาม เป็นการลดขยะจากป้ายไวนิลที่ใช้ในการโฆษณาโดยนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านช่างเย็บผ้าในชนบท
•แท่นขุดเจาะบาดาลขนาดเล็ก โดยนายพัฒนพงษ์ ฟองจินา จ.เชียงราย - แท่นเจาะบาดาลขนาดเล็กติดล้อเข็นถอดประกอบขนขึ้นรถกระบะได้ สามารถเจาะบาดาลได้ลึกถึง 30 เมตร ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรรายย่อยในการขนส่งสามารถนำไปใช้ในการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ทางการเกษตรของตนเอง หรือเพิ่มรายได้ด้วยการรับจ้างเจาะบ่อบาดาลขนาดเล็ก
•เครื่องหยอดข้าวขั้นตอนเดียว โดยนายอร่าม อายุวัฒน์ จ.กาฬสินธ์ – เครื่องหว่านข้าวแบบติดตั้งกลไกการตีดิน ซึ่งปกติแล้วทั้งสองกระบวนการนี้จะต้องทำแยกกัน ทำให้ลดเวลาการทำงานลงไปครึ่งหนึ่ง ลดต้นทุนในการจ้างรถไถ หรือน้ำมันเชื้อเพลิง และยังทำให้ได้ปริมาณเมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย
โดยหลังจากนี้ช่างชุมชนทั้ง 10 จะได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้ 4 มิติจากผู้เชี่ยวชาญแบบออนไลน์ในช่วงเดือนกันยายน 2564 และช่างชุมชนแต่ละคนจะได้กลับไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมของตนเอง ปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งในด้านประสิทธิภาพการทำงาน ความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงการขยายผลผ่านการจัดจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด และประกาศผลในการมอบรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ต่อไป โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ของโครงการได้ทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ ช่างชุมชน ช.การช่าง
URL
29