ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เป็นวงกว้าง ทำให้ภาครัฐทั้งส่วนกลางและในแต่ละจังหวัดต้องออกมาตรการควบคุมโรคและการเดินทาง ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยว แต่ ททท.ก็หวังว่าในช่วงไตรมาส 4 นี้ซึ่งเข้าสู่
ช่วงไฮซีซั่น ตลาดนักท่องเที่ยวไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเที่ยวในประเทศอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังมีข้อจำกัดในการเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศ
สำหรับโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐ 2 โครงการ ได้แก่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ให้ 2 ล้านสิทธิ (คืน) รัฐช่วยจ่ายค่าโรงแรม 40% ให้คูปองอาหาร 600 บาทต่อวัน พร้อมช่วยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน 40% และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ให้ 1 ล้านสิทธิ รัฐช่วยจ่ายสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทเที่ยวผ่านบริษัททัวร์นั้น ทาง ททท.จะส่งหนังสือไปถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าจะขอเริ่มดำเนินโครงการทั้งสองในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อกลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
รายงานข่าวจาก ททท.ระบุว่า สำหรับสรุปผลโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 1 และเฟส 2 พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนสำเร็จ 8.16 ล้านคน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกิจการทั้งหมด 83,087 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม ที่พัก ลงทะเบียนรวม 8,908 แห่ง ร้านอาหาร 70,012 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยว 2,158 แห่ง โอท็อป 1,433 แห่ง และสปา ร้านนวด ขนส่งเพื่อท่องเที่ยวอีก 576 แห่ง
มีการใช้สิทธิจองโรงแรม 5,769,707 สิทธิ จากทั้งหมด 6 ล้านสิทธิ มูลค่าห้องพักที่จองทั้งหมด 15,174.1 ล้านบาท แบ่งเป็นจ่ายโดยประชาชน 9,351.5 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 5,822.5 ล้านบาท ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนที่จอง 2,727 บาท จำนวนโรงแรมที่มีการจองทั้งสิ้น 5,795 แห่ง มีผู้ได้รับคูปองอาหาร 1,324,399 ราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 7,794.4 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ่ายโดยประชาชน 4,771.7 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 3,022.7 ล้านบาท ส่วนบัตรโดยสารเครื่องบิน มีจำนวนบัตรโดยสารหรือผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิ 515,769 สิทธิ มูลค่าบัตรโดยสารที่ได้รับสิทธิ 1,390.43 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ่ายโดยประชาชน 915.54 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 474.89 ล้านบาท
และเมื่อดูผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันใน 2 เฟสแรก พบว่าเป็นรายได้ทางตรงจากเงินของประชาชน 15,038.74 ล้านบาท เงินจากรัฐบาลสนับสนุน 9,320.09 ล้านบาท ขณะที่รายได้ทางอ้อมสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 1,834.76 ล้านบาท รวมประมาณการรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ 26,193.59 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่าของการลงทุน 2.81 เท่า เมื่อเทียบกับงบประมาณที่รัฐสนับสนุน 9,320.09 ล้านบาท
ยุทธศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ททท.ยังมีโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวอื่นๆ ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2564 มาดำเนินการในช่วงเดือน ก.ย. ต่อเนื่องไปถึง ต.ค. เช่น โครงการ “อันซีน นิว ซีรีส์” เปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ 25 แห่งซึ่งไม่เคยโปรโมทขายมาก่อน ขณะเดียวกันจะมีโครงการ “เที่ยวกันเถอะเรา” ผนึกความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างปลอดภัย รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่กระตุ้นนักท่องเที่ยวซึ่งมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน
“ในช่วงแรกหลังรัฐคลายล็อกการเดินทางภายในประเทศ ททท.ประเมินสถานการณ์ว่าน่าจะเดจาวู เหมือนกับช่วงที่รัฐคลายล็อกให้เดินทางท่องเที่ยวได้หลังสามารถควบคุมการระบาดรอบที่ผ่านมา”
จุดหมายที่ได้รับความนิยมในช่วงแรกๆ น่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลจากภูมิลำเนาของนักท่องเที่ยวมากนัก อย่างนักท่องเที่ยวกรุงเทพฯก็จะนิยมขับรถเที่ยว (Road Trip) ไปจุดหมายระยะใกล้ รัศมี 200-300 กิโลเมตร เช่น หัวหิน เขาใหญ่ ปากช่อง ซึ่งได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวขับรถไปเที่ยวจนรถติด รวมถึงกาญจนบุรี และราชบุรี โดยเลือกเดินทางเป็นกลุ่มครอบครัวเพื่อให้เกิดความมั่นใจ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจหลังคลายล็อกน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เอาต์ดอร์ และกว้างขวางเพื่อลดความหนาแน่นของผู้คน
“ทั้งนี้ ททท.หวังว่าตลาดไทยเที่ยวไทยซึ่งปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 90 ล้านคน-ครั้ง จะฟื้นตัวในช่วงโค้งท้ายไตรมาส 4 นี้ กัดฟันผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปี 2564 ให้ถึงเป้าหมายไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว”
กรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะประธานภาคเอกชนของโครงการ “หัวหิน รีชาร์จ” ว่า ในภาวะปกติก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 “หัวหิน” พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวไทยมากถึง 62% พอรัฐคลายล็อกการเดินทางภายในประเทศ ทำให้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไทยขับรถมาเที่ยวหัวหินมากขึ้น และคาดการณ์ว่าโรงแรมในหัวหินซึ่งมีกว่า 5,042 ห้องพักจะมีอัตราเข้าพักในเดือน ก.ย.นี้เฉลี่ยที่ 60% ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4
“เราคาดการณ์ว่าจากการเปิดโครงการหัวหินรีชาร์จ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางมาหัวหินในไตรมาส 4 จำนวน 1 แสนคน สร้างรายได้การท่องเที่ยว 1,200 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 2,870 บาทต่อคนต่อวัน”