คลาย “ล็อกดาวน์” ดี แต่ไม่แน่ว่า “จะฟื้น” “แบงก์ชาติ” หวั่นเสี่ยงระบาดรอบใหม่หนัก

คลาย “ล็อกดาวน์” ดี แต่ไม่แน่ว่า “จะฟื้น” “แบงก์ชาติ” หวั่นเสี่ยงระบาดรอบใหม่หนัก

  • 0 ตอบ
  • 109 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

dsmol19

  • *****
  • 2466
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส แบงก์ชาติตอกย้ำย่ำแย่ลงทุกภาคส่วน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจคลายล็อกโดยอ้างตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ยอดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วต้องดูว่ายอดคนตายจากโควิด-19 ยังสูง ขณะที่วัคซีนเข็ม2ได้ฉีดกันไม่ถึงสิบล้านคน ทำให้น่าห่วงว่าเปิดเมืองโดยที่ยังไม่พร้อมจริงจะยิ่งทำให้เกิดการระบาดหนักในระลอกถัดไปซ้ำรอยเหมือนที่เคยเป็นมาหรือไม่ 

ดูเหมือนสภาพการณ์จะกลายเป็นปัญหางูกินหาง แต่ถึงนาทีนี้แล้ว “รัฐบาลลุง” จำเป็นต้องตัดสินใจคลายล็อกดาวน์ต่อลมหายใจเศรษฐกิจที่รวยรินเต็มทีให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างที่ตัวเลขฟ้องแม้จะออกมาตรการล็อกดาวน์แน่นหนาปานใด ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งเอาๆ เพิ่งกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลงต่ำกว่าสองหมื่นไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เอง เป็นภาพสะท้อนว่าจะล็อกหรือคลายล็อกก็คงไม่แตกต่างกันกระมัง อีกทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับ “วัคซีน”  เป็นหลัก ทั้งคุณภาพของวัคซีนและการกระจายฉีดให้ประชาชนได้ทั่วถึงจริงๆ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเปิดเมืองให้ประชาชนทำมาหากินย่อมดีกว่าปิดต่อเนื่องยาวนานไปโดยไม่รู้ชะตาอนาคตจะอยู่จะกินอย่างไร ดังนั้น แม้จะมีความหวาดหวั่นถึงผลที่จะตามมาโดยเฉพาะการแพร่ระบาดรอบใหม่ แต่ก็มีเสียงตอบรับด้วยความยินดียิ่ง ตลาดสดยันห้างใหญ่น้อยที่เงียบเหงาพลันคึกคักมีชีวิตชีวา ร้านรวงต่างทำความสะอาดจัดเตรียมข้าวของรอผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย สายการบินต่างๆ ที่จอดนิ่งสนิทต่างเตรียมเปิดบินในประเทศกันถ้วนหน้า

อย่างที่ พญ.อภัสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ว่าไม่มีปรับพื้นที่สียังคง 29 จังหวัดสีแดงเหมือนเดิม แต่ปรับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด และอนุญาตให้เปิดกิจการตามความพร้อมและจำเป็น * ... เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ....”  

เป็นที่มาของการคลายล็อกให้เดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้ รถโดยสารรับคนได้ไม่เกิน 75% การเดินทางไปทำงานของแรงงานให้ใช้ระบบ seal route ตามมาตรการ Bubble and Seal ขณะที่ร้านอาหารนอกอาคารไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งรับประทานได้ 75% และร้านที่มีเครื่องปรับอากาศให้นั่งรับประทานได้ 50% เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดบริการได้ทุกแผนก ยกเว้นกิจการที่ให้เปิดแบบมีเงื่อนไข คือ ร้านเสริมสวย ตัดผม-แต่งผม เปิดได้เฉพาะตัดผมไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ร้านนวดเปิดได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดขายสินค้าและนัดหมายลูกค้าล่วงหน้าได้ ส่วนกิจการ/กิจกรรมที่ยังไม่เปิดบริการ ได้แก่ สถาบันกวดวิชา, โรงภาพยนตร์, สปา, สวนสนุก, สวนน้ำ, ฟิตเนส, ห้องออกกำลังกาย, สระว่ายน้ำ, ห้องจัดประชุม/จัดเลี้ยง เป็นต้น

สำหรับการใช้อาคารของสถานศึกษาหรือการเปิดเรียน ขึ้นอยู่กับความเห็นของกระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ, การเปิดใช้สนามกีฬา สวนสาธารณะ เปิดใช้ได้ รวมทั้งสนามกีฬาในร่ม ไม่มีระบบปรับอากาศ สามารถเล่น ซ้อม แข่งขันแบบไม่มีผู้ชมได้ขณะที่เคอร์ฟิวหรือห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 21.00 น.- 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และมาตรการการปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work From Home) ยังคงใช้ต่อไปอย่างน้อย 14 วัน

 คลายล็อกรอบนี้ มีหลักการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมให้ปลอดภัยและยั่งยืนด้วยม็อตโต้สวยหรูว่า “COVID-Free Setting” หรือ มาตรการ “ปลอดโควิด” ด้วยการรักษาสุขอนามัย มีระบบระบายอากาศดี เว้นระยะห่าง บุคลากรได้รับวัคซีนต้านโควิดครบตามเกณฑ์และได้รับการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นประจำ และ “Universal Prevention” มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หมายถึงการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาเสมือนว่าทุกคนรวมทั้งตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อ โดยเริ่มนับหนึ่งคลายล็อกรอบใหม่ 1 กันยายน 2564 ในพื้นที่นำร่อง หรือสถานที่ที่มีความพร้อมเริ่มใช้มาตรการ 1 ตุลาคม 2564 ตามเสียงเรียกร้องของ 9 สมาคมภาคธุรกิจที่ได้ยื่นหนังสือถึง ศบค. ก่อนหน้านี้ 

ถึงแม้การเปิดเมืองจะเป็นการส่งสัญญาณว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น กระทั่งตลาดหุ้นเด้งรับข่าวดีกราฟพุ่งทะลุ 1,600 จุด ไปหลายวัน ทว่า มีเสียงทักท้วงจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาแสดงความห่วงใยเกรงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดจะหวนกลับมาหนักหน่วงอีกครั้งอย่างรอบที่สามหลังการผ่อนคลายช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ต้องปิดล็อกลากยาวมาจนถึงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ดังที่  นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร ทักท้วงว่า อัตราการเสียชีวิตยังขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อัตราติดเชื้อลดลงแต่ไม่รู้เป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะ positive rate ยังสูงมาก แต่ไม่ตรวจก็ไม่เจอ ห้องไอซียูยังแน่น ที่สำคัญอัตราการฉีดวัคซีนสองเข็มยังต่ำกว่า 10% แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเพราะวัคซีนเริ่มเข้ามาแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ และอย่างที่เห็นในต่างประเทศฉีดแล้วก็ยังมีระบาดแบบรุนแรงจนล้นโรงพยาบาลได้ คำถามคือ ถ้าเรายังเห็นภาพไม่ชัดเจนแบบนี้ทำไมรัฐบาลถึงไม่กังวลแบบที่เคยกังวล และถ้าดูสถานการณ์ในต่างประเทศแล้วมันน่ากลัวมากจริงๆ กับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น กลยุทธ์ที่หลายประเทศใช้คือ delay and vaccinate คือปิดเมืองเพื่อลดการติดเชื้อเพื่อซื้อเวลาให้ฉีดวัคซีนได้มากที่สุด ..... ถ้าจะปลดล็อกดาวน์ก็จำเป็นต้องมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่านี้ ไม่งั้นจะเหมือนปล่อยให้คนสวมเสื้อยืดเดินเข้าไปในทุ่งระเบิด อย่างน้อยควรให้ใส่เสื้อเกราะกันระเบิดสักหน่อยไหม?

ขณะเดียวกัน  นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในทำนองเดียวกันว่า การปลดล็อกดาวน์รอบนี้อาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันของไทยยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการตรวจผู้ติดเชื้อก็ยังทำได้ไม่ครอบคลุมพอ ปัจจุบันอัตราการตรวจพบเชื้อ (Positive Rate) ของไทยอยู่ที่ 24% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของ WHO ที่ 5% ค่อนข้างมาก การคลายล็อกอาจเร็วไปจึงเสี่ยงกับการแพร่ระบาดอีก ภาพผู้ป่วยเสียชีวิตคาบ้านเพราะหาเตียงไม่ได้อาจวนกลับมาซ้ำ กระทบความเชื่อมั่นของประชาชนและภาวะเศรษฐกิจ หากดูตัวอย่างจากอังกฤษและอินเดีย จะเห็นว่าช่วงเวลาในการคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสมคือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากจุดพีคแล้ว 60% ซึ่งกรณีของไทย เชื่อว่าจุดพีคผ่านไปแล้วที่ 22,000 คนต่อวัน ดังนั้นจังหวะที่ควรคลายล็อกคือเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 8,000 คนต่อวัน



ใครจะทักท้วง ตั้งข้อสังเกตด้วยความห่วงใยก็ว่าไป แต่สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่เรียกความเชื่อมั่นในการปลดล็อกคราวนี้ได้ออกมาอวดถึงผลงานการรักษาผู้ติดเชื้อหายแล้วนับล้าน และยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงจริงๆ โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้หายป่วยรายวันมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลลดลงชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสนามบุษราคัม จากเคยมีผู้ป่วยมากกว่า 3,500 คน ลดเหลือ 1,500 คน ศูนย์นิมิบุตรมีผู้ป่วยรอส่งต่อเหลือไม่ถึง 70 คน ภาพรวมมีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 1,040,768 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,219,531 ราย วันนี้ มีผู้ที่หายป่วย 18,996 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 ราย (ตัวเลข ณ วันที่ 1 กันยายน 2564)

ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมแล้ว 32,600,001 โดส ถือว่าฉีดได้เกินเป้าหมาย เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23,975,098 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 8,212,750 ราย เข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องสัมผัสผู้ป่วย 592,153 ราย

การออกมาอวดผลงานรับวันปลดล็อกของปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีคำถามกลับมาจากชมรมแพทย์ชนบท ที่ออกมาแตะเบรกว่าอย่าเพิ่งดีใจไป โดยโพสเฟซบุ๊กว่า “อย่าเพิ่งรีบดีใจ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลด ส่วนหนึ่งเพราะการตรวจคัดกรองน้อย ข้อสังเกตประการสำคัญในการดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ จำนวนการตรวจคัดกรองด้วย RTPCR หากตรวจน้อยก็ย่อมจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่น้อย ตรงไปตรงมา ปัจจุบันการนับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่นับจาก RTPCR เท่านั้น ไม่นับรวมผลจากการตรวจ ATK ไว้ด้วย ระบบการรายงานการตรวจ ATK ของประเทศก็ยังไม่ลงตัว

“ที่น่าสนใจคือ ยอดการตรวจ RTPCR นั้น ลดลงมาเรื่อยๆ จากเดิมเฉลี่ยที่ 70,000 รายต่อวัน ช่วงสัปดาห์นี้เหลือเพียง 47,485 ราย แน่นอนว่าตรวจลดลงก็ย่อมพบผู้ติดเชื้อลดลง คาดว่าเมื่อมีการเปิดให้ประชาชนเคลื่อนย้ายเดินทางอีกครั้ง การติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นมาได้อีกระลอก จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องดูข้อมูลประกอบเวลาเห็นตัวเลขของผู้ติดเชื้อ” ชมรมแพทย์ชนบท ชวนให้คิดพิจารณา

แต่ไม่ว่าจะยังล็อกหรือคลายล็อกผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังคงหนักหน่วง ตามรายงานภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 ว่าได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง มาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น

ด้านการส่งออกสินค้าแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 0.8% จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศ และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป โดยการส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง ก็แผ่วลงตามภาวะอุปสงค์ของคู่ค้า ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานยังกดดันการผลิตในหลายหมวด ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางหมวดมีการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลง

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่สัดส่วนยังน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ส่วนตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยืดเยื้อ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงและมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งต้องติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาซับพลายดิสรัปชัน รวมทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงเศรษฐกิจคู่ค้าที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. มองภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2564 ยังเป็นไปตามคาดการณ์ แม้ว่าจะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน ตั้งแต่ 1 กันยายน ก็ยังเป็นไปตามที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายช่วงปลายไตรมาส 3/2564 แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะเรื่องซับพลายดิสรัปชัน การแพร่ระบาดในโรงงาน และสถานการณ์แพร่ระบาดในต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับประมาณการอีกครั้งในรอบต่อไป

  “ต่อให้เปิดเมืองก็มีเรื่องความเชื่อมั่นประชาชนด้วยว่าจะมากน้อยแค่ไหน มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม มาตรการภาครัฐช่วงที่ผ่านมามีการอัดฉีดเรื่องการเยียวยา ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือจะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคงต้องติดตามดูในเดือนกันยายนนี้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร”นางสาวชญาวดี กล่าว 

ตัวเลขและสัญญาณจากแบงก์ชาติยังน่ากังวล แต่สำหรับภาคเอกชนดูเหมือนจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ต่างปรับเป้าจีดีพีและส่งออกปีนี้เพิ่มขึ้นรับการคลายล็อกและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

 นายผยง ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจนนำมาสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว กกร.จึงปรับคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เพิ่มขึ้นจากกรอบเดิม -0.5% ถึง 0% มาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1.0% การส่งออกจากเดิม 10% ถึง 12% เป็น 12%-14% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเดิม 1% ถึง 1.2%

 เขายังมองว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้น่าจะดีขึ้นหากการฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ โดยสองปัจจัยหลักต้องเอื้ออำนวย คือ Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงัก และการควบคุมโควิด-19 ได้ดีแล้วรัฐสามารถเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทันไฮซีซั่นส์ในช่วงปลายปีก็จะสร้างบรรยากาศให้ดียิ่งขึ้นได้ แต่หากการระบาดแย่ลงก็ย่อมนำไปสู่ภาวะเสี่ยง 

ประธาน กกร. ยังให้ความเห็นว่า หน่วยงานรัฐได้ประเมินเศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตได้ 3% ถึง 5% ถือว่าการเติบโตในระดับนี้ต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็วรัฐควรวางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้เพราะคนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยรัฐต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท เน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีตัวคูณ (Multiplier) กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้น ฯลฯ

“มาตรการคลายล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่ดี และข้อเสนอของเอกชนไม่ควรจะมีมาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไปเพราะกระทบต่อเศรษฐกิจมาก แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เชิงรุก โดยรัฐควรช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ATK และค่าระวางเรือที่สูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการส่งออก รวมทั้งควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ” นายผยง กล่าว

เช่นเดียวกันกับ  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่า หากวัคซีนที่จะเข้ามาได้ตามแผนที่รัฐวางไว้จะทำให้เศรษฐกิจที่เหลือปีนี้และปีหน้าเติบโตต่อเนื่องได้ และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จากนี้ไปรัฐไม่ควรล็อกดาวน์อีกเพราะพิสูจน์ได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อก่อนและหลังล็อกดาวน์ไม่ได้ต่างกันมากนัก

 นายสนั่น อังอุบลกุล  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ว่า มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเสียหาย 3-4 แสนล้านบาท เมื่อรัฐคลายล็อกดาวน์กิจการบางอย่างจะกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง ทำให้ความเสียหายจะลดลงเหลือ 2-3 แสนล้านบาท หากเดือนตุลาคมนี้มีการผ่อนคลายการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นจะทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้นต่อเนื่อง

 คลายล็อกรอบนี้จะฝ่าวิกฤตทั้งการติดเชื้อรอบใหม่จะพุ่งขึ้นหรือไม่ และเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นชีพหรือไม่ ประชาชนคนไทยจะกลับมาทำมาหากินใช้ชีวิตได้เป็นปกติได้สักกี่มากน้อยอีกไม่นานก็รู้ผล