วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 15.08 น. ตามเวลาประเทศไทย (ซึ่งตรงกับเวลา 18.08 น. ของเมือง Vladivostok) ณ มหาวิทยาลัย Far Eastern Federal เมือง Vladivostok สหพันธรัฐรัสเซีย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลง
ในการประชุม Eastern Economic Forum (EEF) ครั้งที่ 6 ในช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ภายใต้หัวข้อ “Through crisis towards rejuvenation” A search for ways of growth in a post-pandemic period ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุม EEF ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้นำร่วมกันหาแนวทางสู่การฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ทางออกจากวิกฤตโควิด-19 ที่หลายประเทศกำลังเผชิญรวมทั้งไทย คือ การที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงและมีการกระจายวัคซีนได้อย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำและเรียกร้องให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก และขอให้ประเทศที่มีวัคซีนเพียงพอแล้ว แบ่งปันและเร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคโดยเร็ว
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรในประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างพัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ ซึ่งบางโครงการอยู่ในขั้นตอนทดลองในมนุษย์ มีผลที่น่าพอใจ จึงเห็นได้ว่า ไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางการกระจายวัคซีนของภูมิภาค
จากสถานการณ์โควิด-19 IMF และธนาคารโลกได้รายงานตัวเลขคนยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 100 ล้านคน ในปี 2020 ตอกย้ำความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและจะดำเนินต่อไปถึงยุคหลังโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นช่องว่างของการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทุกประเทศจึงต้องร่วมกันยึดมั่นระบบพหุภาคีนิยมและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้นบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอมุมมองของไทยเกี่ยวกับกุญแจสำคัญ 3 ดอก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ภายใต้วิถีปกติใหม่ ดังนี้
กุญแจสำคัญดอกแรก คือ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเท่าเทียมทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยไทยได้ประยุกต์ใช้ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการต่อยอดความเข้มแข็งของไทยในด้านเกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกประเทศ
กุญแจสำคัญดอกที่สอง คือ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม MSMEs โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนการค้ารูปแบบเดิมให้เป็นการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการปรับกฎระเบียบของภาครัฐให้รองรับการค้าแบบดิจิทัล การปรับโครงสร้างภาคแรงงานที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้ ซึ่งรวมถึงการ upskill และ reskill ตลอดจนเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคเพิ่มเติม รวมถึงสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ไทยจะเดินหน้าหารือกับประเทศสมาชิก EAEU รวมทั้งรัสเซีย และคาซัคสถานต่อไป
กุญแจสำคัญดอกที่สาม คือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน ซึ่งไทยอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันอย่างดีเลิศ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ทันสมัย พร้อมเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน EEC โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยส่งเสริม นอกจากนี้ การเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไทยได้ดำเนินโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus พร้อมเสนอให้มีการหารือเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติด้านการเดินทาง และการใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่จะมีขึ้นในอนาคต
วิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง การจะกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมได้นั้น ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจอย่างจริงจังในทุกระดับซึ่งไทยได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ทั้งในกรอบ UN และองค์กรระดับภูมิภาค โดยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ในปีหน้า ไทยจะผลักดันวาระที่มุ่งไปสู่การฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งต้องขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ไทยหวังจะขับเคลื่อนภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อนึ่ง EEF เป็นเวทีหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกไกลของสหพันธรัฐรัสเซียด้วยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซียเข้ากับเอเชียแปซิฟิก โดยในการประชุมครั้งนี้ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม และมีผู้นำระหว่างประเทศ อาทิ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ร่วมส่งวีดิทัศน์ด้วย