การดำเนินงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้และไม่เข้าใจความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยังไม่เห็นความสำคัญ สผ. จึงได้ดำเนินโครงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และการเพิ่มสมรรถนะในการสื่อสารด้านความหลากหลายทางชีวภาพในยุคดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ (Effective communication) โดยมุ่งหมายที่จะสร้างความตระหนักและความเข้าใจ ในเรื่อง
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Outreach, Awareness and Uptake) แก่ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่าการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และการเพิ่มสมรรถนะในการสื่อสารด้านความหลากหลายทางชีวภาพในยุคดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ (Effective communication) เป็นการดำเนินงานส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่เรียกว่า “CEPA” (Communication Education and Public Awareness) ดำเนินการตามแนวทางมาตรา 13 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ดังกล่าว สผ. ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการถ่ายทอดและเผยแพร่ข้อมูลความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีความเหมาะสมและน่าสนใจสำหรับกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้แนวคิดการสื่อสารในยุคดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักและใส่ใจในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาฯ ในเชิงนโยบาย สผ. ได้ผนวกการดำเนินงานด้าน CEPA ไว้ในแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงาน ซึ่งการสร้างความตระหนักและความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ