ฮ่องกงยันไม่เลิกยุทธศาสตร์‘โควิดต้องเป็นศูนย์’ แม้คู่แข่งเช่นสิงคโปร์หันไปใช้วิธี‘อยู่ร่วมกับไวรัส’

ฮ่องกงยันไม่เลิกยุทธศาสตร์‘โควิดต้องเป็นศูนย์’ แม้คู่แข่งเช่นสิงคโปร์หันไปใช้วิธี‘อยู่ร่วมกับไวรัส’

  • 0 ตอบ
  • 81 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Hanako5

  • *****
  • 1982
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ฮ่องกงปฏิเสธไม่ล้มเลิกยุทธศาสตร์ “ซีโร่-โควิด” ตามกระแสเรียกร้องของประคมธุรกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์ ที่หันมา “อยู่กับโควิด” โดยผู้บริหารสูงสุดของเกาะเน้นย้ำเป้าหมายสำคัญอันดับแรกในการเปิดประตูคือการฟื้นการเดินทางติดต่อกับจีน ส่วนทางญี่ปุ่นเผยมีแนวโน้มสูงที่ปัญหาวัคซีนโมเดอร์นาปนเปื้อนที่โอกินาวา จากการแทงเข็มฉีดยาลงในขวดผิดวิธี ด้าน WHO เตือนปลายปีนี้ยุโรปอาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 230,000 คน

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หอการค้ายุโรปในฮ่องกงส่งจดหมายเปิดผนึกถึงแคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เตือนว่า ชื่อเสียงการเป็นฮับธุรกิจของฮ่องกงกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และประชาชนกำลัง “ติดอยู่ในกับดักไม่รู้จบ”

แต่ในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) ลัมยังคงยืนยันว่า ไม่มีแผนยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางจากต่างแดน โดยระบุว่า การปกป้องที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันการนำเข้าผู้ติดเชื้อโควิด ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผู้นำฮ่องกงสำทับว่า การฟื้นการเดินทางติดต่ออย่างเป็นปกติกับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเป้าหมายที่มีลำดับความสำคัญมากกว่าการเดินทางติดต่อกับทั่วโลก ถึงแม้คู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ เตรียมปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้กับโควิดมาเป็นการยอมรับที่จะต้องอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสโคโรนานี้ และดำเนินการเปิดประเทศต่อโลก ก็ตามที

ลัมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ยิ่งผ่อนคลายกฎเปิดรับชาวต่างชาติมากเท่าไร ฮ่องกงยิ่งมีโอกาสน้อยลงที่จะฟื้นการเดินทางติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ และเธอยังเชื่อว่า ธุรกิจระหว่างประเทศส่วนใหญ่ต้องการเปิดการเดินทางกับจีนเป็นอันดับแรก ซึ่งฮ่องกงถือว่า มีข้อได้เปรียบเนื่องจากเป็นเกตเวย์สู่แดนมังกรที่เป็นตลาดขนาดใหญ่มหึมา

คำแถลงของลัมถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่มีธุรกิจในจีน แต่ไม่ค่อยดีนักสำหรับบริษัทระหว่างประเทศที่เลือกฮ่องกงเป็นฐานเพื่อการเข้าถึงภูมิภาคนี้

จีนนั้นไม่กระตือรือร้นผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง ซึ่งรวมถึงการเดินทางติดต่อกับฮ่องกงด้วย โดยสื่อฮ่องกงรายงานว่า เจ้าหน้าที่จีนจะคงมาตรการจำกัดต่อไปอย่างน้อยจนถึงภายหลังกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่ปักกิ่ง

เท่าที่ผ่านมา ฮ่องกงสามารถสยบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ค่อนข้างอยู่หมัด ซึ่งต้องขอบคุณมาตรการอย่างเรื่องการสวมหน้ากากป้องกัน, การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด, รวมทั้งการใช้มาตรการกักกันโรคซึ่งบางอย่างจัดว่าเข้มงวดที่สุดในโลก ทว่าอัตราการฉีดวัคซีนของดินแดนบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้กลับยังคงล้าหลังสิงคโปร์มาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขาดแคลนวัคซีนแต่อย่างใด

เวลานี้สิงคโปร์อยู่ในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศและดินแดนซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกในการรณรงค์ให้ผู้คนมาฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีประชากรมากกว่า 80% แล้วที่ได้รับวัคซีนครบโดส แถมในหมู่ผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราส่วนผู้ฉีดครบอยู่ที่ 84% ทีเดียว

ตรงกันข้าม มีชาวฮ่องกงที่อยู่ในเกณฑ์เข้าฉีดวัคซีนได้เพียงแค่ 46% เท่านั้นซึ่งได้วัคซีนครบโดสแล้ว โดยผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนครบแล้วเพียงแค่ 25%

สันนิษฐานสาเหตุวัคซีนโมเดอร์นาจำนวนมากปนเปื้อนในญี่ปุ่น

ทางด้านญี่ปุ่น โนริฮิสะ ทามูระ รัฐมนตรีสาธารณสุข แถลงเมื่อวันอังคารว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การปนเปื้อนในวัคซีนโมเดอร์นาที่พบที่โอกินาวะเมื่อวันอาทิตย์ (29 ส.ค.) อาจมีสาเหตุจากการแทงเข็มฉีดยาลงในขวดผิดวิธี ทำให้ชิ้นส่วนยางปิดปากขวดแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และปนเปื้อนในขวดวัคซีน

อย่างไรก็ดี ทามูระสำทับว่า ไม่พบปัญหาความปลอดภัยหรือปัญหาอื่นๆ และทางกระทรวงจะรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ข่าวการปนเปื้อนของวัคซีนโมเดอร์นาจนต้องระงับการฉีดถึง 1.63 ล้านโดสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดขึ้นขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุดจากสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละเกิน 25,000 คนเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้า

เตือนยุโรปจำนวนคนตายจะพุ่งแรงสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกัน จากการที่ยุโรปก็ประสบปัญหาความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเช่นกัน รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อก็พุ่งขึ้นจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้หน่วยงานในยุโรปขององค์การอนามัยโลก แถลงเตือนเมื่อวันจันทร์ (30) ว่า ภายในเดือนธันวาคม อาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในภูมิภาคนี้ถึง 236,000 คน

คำเตือนนี้ออกมาขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกทะลุ 4.5 ล้านคน ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักข่าวเอเอฟพี

ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการ WHO ประจำยุโรปยังระบุว่า เวลานี้ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนเสียชีวิตเพราะโควิดกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเทศยากจนแถบ.ข่าน คอเคซัส ไปจนถึงเอเชียกลาง เฉพาะสัปดาห์ที่แล้ว ยุโรปมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 11% และจากการคาดการณ์ที่เชื่อถือได้ ภูมิภาคนี้จะมีผู้เสียชีวิต 236,000 คนภายในวันที่ 1 ธันวาคม

ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิดในยุโรปขณะนี้อยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)