การประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัท
ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)(IRPC)เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว “ (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life) รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆของโลกหลากหลายมิติ (เมกะเทรนด์) อาทิ เทคโนโลยี การสื่อสาร การคมนาคม รวมถึงความต้องการของลูกค้า ที่กำลังเข้าสู่การเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ และสังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนสงครามการค้าที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจเท่านั้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มโอกาสในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอีกด้วย
ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า ปัจจุบันมีปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้บริษัทต้องปรับตัวนับตั้งแต่วันนี้ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้องค์ความรู้ในองค์กรที่สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีมากว่า40ปี ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ว่องไว ทันต่อสถานการณ์ในการต่อยอดธุรกิจปัจจุบัน ควบคู่กับการแสวงหาธุรกิจใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีอีกต่อไป
การขยายขอบเขตไปสู่นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานแห่งอนาคต ( Material and Energy Solutions )เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดนวัตกรรมด้านสุขภาพและวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Life Science ธุรกิจเป้าหมายที่บริษัทแม่ คือ ปตท.ให้ความสำคัญในการลงทุน ทำให้ IRPC ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ผนวกกับอาศัยการเชื่อมโยงเครือข่ายในกลุ่มปตท. และพันธมิตร เพื่อสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ทำให้IRPCพร้อมที่จะโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความสมดุลทั้งชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน IRPC ยืนยันไม่ทิ้งธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีในปัจจุบันที่เป็นตัวสร้างรายได้และกำไร แต่มุ่งที่จะต่อยอด ต่อยาว และต่อใหม่ให้บริษัทเข้มแข็งเทียบเคียงบริษัทลูกในกลุ่มปตท.
ตั้งเป้าปี73 EBITDA50%มาจากธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ IRPC ได้วางเป้าหมายในปี 2568 บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) มาจากธุรกิจใหม่ราว 25% และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อเทียบกับปีนี้ที่สัดส่วนEBITDAจากธุรกิจใหม่น้อยมาก เพราะบริษัทเพิ่งเริ่มร่วมลงทุนกับบริษัท อินโนบิก(เอเชีย)ที่ปตท.ถือหุ้น 100% จัดตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ที่IRPCจะถือหุ้นในสัดส่วน60 %และบริษัท อินโนบิก (เอเชีย)ถือหุ้น 40 %เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Medical Consumables) ใช้เงินลงทุน 260ล้านบาท โดยIRPCนำเม็ดพลาสติก PP มาพัฒนาสูตรเองเป็นPP เกรด เมลต์โบลน ( Polypropylene Melt blown)ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าเมลต์โบลน ซึ่งเป็นผ้าชั้นกรองในหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี2564 นับเป็นโครงการที่ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทบทวนงบลงทุนใหม่ให้สอดคล้องวิสัยทัศน์
สำหรับงบการลงทุน 5 ปีข้างหน้า ขณะนี้ IRPC อยู่ระหว่างการทบทวนงบลงทุนใหม่เพื่อให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ใหม่ที่ได้ประกาศไป ยืนยันว่าเงินลงทุนจะสูงกว่าเดิมที่เคยตั้งไว้ 3.6 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน แม้ว่าช่วง1-3ปีแรกส่วนใหญ่จะใช้สำหรับโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO (Ultra Clean Fuel Project: UCF) มูลค่า 1.33หมื่นล้านบาท ที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมกราคม 2567 ตามนโยบายรัฐในการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานEURO Vในเดือนม.ค. 2567เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ,การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ,การปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร และการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ(M&A)
ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน(Core Uplift) เป็นหลัก หรือที่เรียกกันสั้นว่าต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ UCF การพัฒนาและการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialty )เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มหนีจากการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากวัฎจักรด้านราคา เป็นต้น
แต่ในระยะกลาง บริษัทจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง(Adjacent Business )หรือเรียกสั้นๆว่าต่อยาว เช่นการนำเม็ดพลาสติก PP ไปพัฒนาเป็นPPเกรดเมลต์โบลน แล้วนำไปสู่การผลิตเป็นผ้าเมลต์โบลน เพื่อนำไปผลิตหน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะเห็นอีกหลายโครงการ
สำหรับธุรกิจใหม่ (Step Out Business) หรือต่อใหม่จะเป็นการขยายสู่ธุรกิจที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน (นิว ฟรอนเทียร์ ) กล่าวได้ว่าเป็นการก้าวสู่ “พรมแดนใหม่” มีทั้งการลงทุนผ่านกองทุนVCที่สนับสนุนการลงทุนStartup รวมทั้งหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่เองจากการM&A ซึ่งวิสัยทัศน์ใหม่เปิดช่องให้ลงทุนหลากหลายรวมภายใต้คำจำกัดความว่า Material รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ มีทั้งลงทุนในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี2573
จีบพันธมิตรร่วมผลิตถุงมือยางการแพทย์
การก้าวสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว หนึ่งในแนวทางนั้นคือการร่วมทุนหรือควบรวมกิจการ (M&A) IRPCเริ่มแรกมุ่งเน้นการลงทุนต่อยอดธุรกิจเดิมด้วยขนาดการลงทุนที่ใช้เงินไม่มาก ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาM&Aแล้ว 2-3 โครงการทั้งในไทยและต่างประเทศซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการใหม่ โดยหนึ่งในนั้นคือโครงการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ทางการแพทย์ นับเป็นการลงทุนที่ต่อยอดจากโครงการผลิตหน้ากากอนามัยที่ร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ไปก่อนหน้านี้ โดยจะผลิต Nitrile Butadiene Latex (NBL)ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ สร้างมูลค่าเพิ่มตอบรับเมกะเทรนด์ด้านธุรกิจสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังเติบโต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีคาดจะได้ข้อสรุปในโครงการดังกล่าวภายในปี2564 และวางเป้าหมายที่จะผลิตในปี2568
ทางปตท. กล่าวถึงความร่วมมือกับIRPCในการผลิตผ้าเมลต์โบลนและ NBL ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สาธารณสุข ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญจะช่วยยกระดับสาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย สอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็น New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. และยังเป็นส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ของอาเซียน ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล
แม้ว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนการลงทุนธุรกิจใหม่ที่เน้นด้าน Health and Wellness แต่IRPC มีจุดยืนในการลงทุนโครงการใหม่หรือM&A ต้องมีขนาดโครงการไม่ใหญ่ ใช้เงินลงทุนไม่มาก เน้นการต่อยอดธุรกิจปัจจุบันของบริษัท แต่หากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ก็จะลงทุนเป็นทีมร่วมกับกลุ่มปตท.หรือพันธมิตร เพื่อให้ได้3สิ่งนี้คือองค์ความรู้ พันธมิตร และ ผลตอบแทนการเงิน เมื่อบริษัทมีเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะขยับการลงทุนโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
หากกล่าวถึงจุดเด่นIRPC ที่ทำให้นักลงทุนสนใจดึงเป็นพาร์ทเนอร์ นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นแล้ว ขนาดโรงกลั่นน้ำมันไม่ใหญ่เฉลี่ยวันละ1.9แสนบาร์เรล/วัน แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้ส่วนใหญ่นำไปเป็นผลิตปิโตรเคมีที่มีความหลากหลายทั้งเม็ดพลาสติก PP PE โพลีสไตรีน อะคริโลไนไตรล บิวทาไดอีน สไตรีน ฯลฯ รวมทั้งบริษัทยังมีที่ดินในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีที่เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง ที่มีท่าเทียบเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า ตัดปัญหาการหาพื้นที่ตั้งโรงงานและระบบสาธารณูปโภคเลย
รุกสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า
ส่วนความคืบหน้าการรุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ภายหลังจากการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด( JPP ) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษที่หลากหลาย โดยIRPCเข้าถือหุ้นในสัดส่วน50 %ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น IRPCได้ส่งเม็ดพลาสติกPPเกรดพิเศษไปทดสอบเพื่อใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง สุดท้ายเมื่อได้รับการยอมรับในผลิตภัณฑ์ก็พร้อมเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทต่อเวลูเชนลงไปสู่Converter นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกธุรกิจใหม่อีกหนึ่งธุรกิจตอบโจทย์เทรนด์โลก
IRPCยังเป็นส่วนในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ทางปตท.ก็ได้จับมือกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) จากไต้หวันในโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตรถอีวีได้หลายยี่ห้อ และหากศึกษาแผนร่วมทุนกันสำเร็จ ปตท.จะจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มปตท.มีความพร้อมในธุรกิจแบตเตอรี่ป้อนอีวีและสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
IRPC ยังได้กำหนดวิธีการเดินหน้าสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ 3 S ได้แก่ Strengthening the core, Striving the growth, Sustaining the future ดังนี้
Strengthening the core การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก ได้แก่ โครงการUCF ,การปรับปรุงกระบวนการทำงาน IRPC 4.0 เป็นการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร
Striving the growth ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ และขยายธุรกิจสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำเพื่อให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และ Sustaining the future การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานครึ่งหลังปี2564 พบว่ายังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งมีโรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่จากจีนและมาเลเซียจะทยอยเข้าสู่ตลาดกดดันภาพรวมตลาดปิโตรเคมีอยู่ ขณะที่เป้าหมายกำลังการกลั่นของIRPCครึ่งปีหลังอยู่ที่ 1.90-1.95แสนบาร์เรล/วัน ใกล้เคียงหรือสูงกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย ทำให้รายได้บริษัทในครึ่งปีหลังส่อแววต่ำกว่า 6เดือนแรกปี2564 ที่มีผลงานดีเกินความคาดหมาย บริษัทมีรายได้รวม 1.05 แสนล้านบาทและกำไรสุทธิ 1.01หมื่นล้านบาท
ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของ IRPC ที่ต้องเผชิญในอนาคตเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ IRPCจะต้องก้าวไปถึงเป้าหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งอีกครั้งโดยมีบริษัทแม่อย่างปตท.คอยหนุนหลังเพื่อเทียบเคียงบริษัทลูกอื่นๆในกลุ่มปตท.ที่เริ่มสยายปีกลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ