ช่วงนี้จะเห็นว่ามีหลายอุทยานแห่งชาติทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชมในเขตอุทยานฯ กันบ้างแล้ว ซึ่ง “
อุทยานแห่งชาติภูเวียง” จ.ขอนแก่น ก็เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ New Normal แล้วเช่นกัน
ผาชมตะวัน อช.ภูเวียง (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ผาชมตะวัน อช.ภูเวียง (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
โดย “อุทยานแห่งชาติภูเวียง" มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู อำเภอชุมแพ อำเภอเวียงเก่า และอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งคำว่า “ภูเวียง” เป็นท้องที่อำเภอที่เก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นอำเภอหนึ่ง และยังเป็นชื่อเรียกของเทือกเขาที่สำคัญอีกด้วย
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ภาพจากสำนักอุทยานแห่งชาติ)
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ภาพจากสำนักอุทยานแห่งชาติ)
ในอดีตมีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำ (หลืบเงิน) บนเทือกเขาภูเวียง นอกจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์ และสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อายุเกือบ 200 ล้านปี จนทำให้หลายคนรู้จักชื่อของภูเวียงว่ามีความโดดเด่นเรื่องซากกระดูกไดโนเสาร์นั่นเอง
ที่นี่เป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ครั้งแรกของไทย และเป็นแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์สำคัญอีกด้วย ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ มีมากมาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 โซน เริ่มที่โซนแรกคือ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติหลุมขุดค้นไดโนเสาร์” ที่หากใครชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวไดโนเสาร์ต้องไม่ควรพลาด
ภายในอาคารหลุมขุดค้นที่ 3
ภายในอาคารหลุมขุดค้นที่ 3
โดย “หลุมขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์” ภายในเส้นทางนี้มีทั้งหมด 9 หลุม แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม 4 หลุม ทุกหลุมจะสร้างอาคารกระจกครอบหลุมขุดค้นไว้ เพื่อเป็นการดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้กระดูกเกิดความเสียหาย
เริ่มที่ “หลุมขุดค้นที่ 1” (ประตูตีหมา) เป็นหลุมขุดที่มีความสำคัญมาก โดยพบตั้งแต่ปี 2525 ที่นี่พบกระดูก “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มากกว่า 20 ชิ้น และพบกระดูกหลายชิ้นของ “คอมพ์ซอกนาธัส” ไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่าแม่ไก่
กระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอด
กระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอด
ส่วน “หลุมขุดค้นที่ 2” (ถ้ำเจีย) พบเมื่อเดือนกันยายน 2530 ที่นี่พบฟอสซิลกระดูกคอของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) หรือไดโนเสาร์กินพืช จำนวน 6 ชิ้นวางเรียงต่อกัน ต่อมาคือ “หลุมขุดค้นที่ 3” (ห้วยประตูตีหมา) มีลักษณะเป็นอาคารห้องกระจกหลังย่อมๆ สร้างครอบซากฟอสซิลเอาไว้ (เพื่อเป็นการดูแลรักษา ป้องกันไม่ให้กระดูกเกิดความเสียหาย ) ค้นพบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 ที่นี่พบกระดูกไดโนเสาร์ส่วนกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงขนาดใหญ่หลายชิ้น ฝังตัวอยู่ในชั้นหินทราย อายุประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว เป็นไดโนเสาร์ชนิดกินพืช (Sauropod) ภูเวียง โกซอรัส สิรินธรเน เช่นกัน
หลุมสุดท้ายคือ “หลุมขุดค้นที่ 9” (หินลาดยาว) ค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 ที่นี่พบกระดูกตรงส่วนสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดง และก็มีกระดูกสะโพกด้านซ้าย กระดูกโคนหางกว่า 10 ชิ้น ของไดโนเสาร์กินเนื้อ (carnosaur) ซึ่งเป็นกระดูกสกุลและชนิดใหม่ของโลกที่ขุดค้นพบ มีชื่อว่า “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส" หรือ “ไทรันสยาม” มีความยาวประมาณ 7 เมตร ลักษณะกระดูกบ่งว่าเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์
ผากาลเวลา (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ผากาลเวลา (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
และในเส้นทางนี้ยังมี “ผากาลเวลา” เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากเช่นกัน ซึ่งที่มาของชื่อผากาลเวลาแห่งนี้ก็คือ เป็นหน้าผาที่สามารถมาชมวิวธรรมชาติที่มีเรื่องราวย้อนอดีตไปกว่า 130 ล้านปี ซึ่งอดีตเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของไดโนเสาร์นานาชนิด เมื่อเวลาผ่านไปไดโนเสาร์ที่ตายลงจะถูกตะกอนแม่น้ำฝังกลบไว้จนกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้ตามรอย
ผาชมตะวัน (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ผาชมตะวัน (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
โซนที่สองคือ “เส้นทางตาดฟ้า” เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่เน้นชมธรรมชาติภายในเขตอุทยานฯ ซึ่งในเส้นทางนี้จะมีไฮไลต์เด่นอยู่ที่ “ผาชมตะวัน” ที่เป็นจุดชมวิวมีลักษณะเป็นลานหินที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกและรอยเลื่อนทำให้เกิดเป็นหน้าผาซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพสวยงามด้านล่าง และสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ได้ด้วย นับว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น
บริเวณผาชมตะวัน (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
บริเวณผาชมตะวัน (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ผาชมตะวันนั้นอยู่ในเขตอำเภอเวียงเก่า อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฟ้าประมาณ 2.5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ตาดฟ้าประมาณ 3 กิโลเมตร สามารถขับรถเก๋งขึ้นไปชมได้ โดยขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค. 64) ผาชมตะวันเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 05.30 น. เป็นต้นไป
น้ำตกตาดฟ้า (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
น้ำตกตาดฟ้า (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ในเส้นทางนี้ยังสามารถชม 2 น้ำตกสวยประจำอุทยานฯ ได้แก่ “น้ำตกวังสักสิ่ว” ที่เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ที่สายน้ำทิ้งตัวไปตามลานหินกว้างและยาว เป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร ด้านล่างลานหินมีอ่างธารน้ำใหญ่และลึก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วังน้ำ” ซึ่งวังน้ำนี้มีน้ำตลอดปี น้ำตกวังสักสิ่วถือเป็นน้ำตกที่ยังคงความสวยงามเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และ “น้ำตกตาดฟ้า” เป็นน้ำตกขนาดกลางอยู่ทางทิศเหนือของเทือกเขาภูเวียง น้ำตกมีความสูงประมาณ 15 เมตร มีความสวยงามไม่แพ้กัน
ต้นยางใหญ่ (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ต้นยางใหญ่ (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
รวมถึงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติต้นยางใหญ่ให้ได้เดินชม “ต้นยางใหญ่” ที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดรอบลำต้นได้ 9.59 เมตร (ขนาดประมาณ 8 คนโอบ) ความสูง 25 เมตร อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ตาดฟ้าประมาณ 2.5 กิโลเมตร
อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงเฉลิมพระเกียรติฯ (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงเฉลิมพระเกียรติฯ (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
และโซนสุดท้ายคือ “เส้นทางอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงเฉลิมพระเกียรติฯ” ซึ่งเป็นโซนที่ถูกใจเด็กๆ อย่างแน่นอน เพราะเป็นสวนไดโนเสาร์กลางแจ้งนานาชนิด ที่สามารถเคลื่อนไหวและส่งเสียงร้องได้ และมีจุดนั่งเล่นพักผ่อนชมธรรมชาติน้ำตกจำลองได้ด้วย
ภายในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง
ภายในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง
นอกจากนั้นในเขตอุทยานฯ ยังมี “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง” ให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกดึกดำบรรพ์อีกด้วย โดยภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแบ่งส่วนของโซนนิทรรศการออกเป็นทั้งหมด 5 โซนด้วยกัน
ส่วนแรกเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับจักรวาลและโลกต่อด้วยส่วนของการเล่าถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนี้ ถัดจากนั้นมาจะเป็นส่วนของการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับหินและแร่ธาตุต่างๆ
สวนไดโนเสาร์
สวนไดโนเสาร์
บริเวณใจกลางห้องพิพิธภัณฑ์จะเจอกับหุ่นจำลองไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์ (ทำจากแท่งเหล็ก) หลายตัว รวมไปถึงมีฟอสซิลไดโนเสาร์จำลอง (จากเรซิ่น) จัดแสดงอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการขุดค้นพบ
ส่วนต่อไปคือ “สวนไดโนเสาร์” จะเป็นการจำลองบรรยากาศของป่าดึกดำบรรพ์โลกล้านปี โดยทำเป็นทางเดินไม้ให้เดินลัดเลาะไปตามจุดต่างๆ ระหว่างทางเดินสองข้างทางก็จะมีไดโนเสาร์ที่สำรวจพบที่ภูเวียงแห่งนี้ จำลองเป็นรูปร่างเหมือนจริงให้ได้ชมกัน อย่างเช่น ไดโนเสาร์กินเนื้อไทรันสยาม, ไดโนเสาร์กินพืชภูเวียง โกซอรัส ที่ยืนคอยาวอยู่ โดยจะมีข้อมูลอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์แต่ละตัวไว้อย่างครบครัน
น้ำตกจำลองที่อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงเฉลิมพระเกียรติฯ (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
น้ำตกจำลองที่อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงเฉลิมพระเกียรติฯ (ภาพจาก อช. ภูเวียง)
ใครอยากมาตะลุยโลกล้านปี ชมธรรมสวยงามภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียงแห่งนี้ สามารถมาท่องเที่ยวได้แล้วแบบ New Normal ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 - 16.30 น. โดยยังไม่เปิดให้เข้ามาพักแรมกางเต็นท์
สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติภูเวียงได้ที่โทร. 0-43438333 หรือที่ อุทยานแห่งชาติภูเวียง - Phu Wiang National Park