ในที่สุด รัฐบาลก็ได้ทำคลอดมาตรการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เพื่อคุม
ค่าใช้จ่ายการติดตามทวงถามหนี้ (collection fee) เสียที แต่งานนี้ส่อวุ่นเพราะธุรกิจติดตามหนี้ - จำนำทะเบียนรถ ครวญรายได้หายกำไรหด ยิ่งหากแบงค์หันมาติดตามหนี้เอง เมินจ้างเอาต์ซอร์ซหลายบริษัทจ่อเลิกจ้าง - ปิดกิจการ รวมทั้ง อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นการทดแทน”
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนถูกเอารัดเปรียบจากการติดตามทวงหนี้โหด โดยเฉพาะลูกหนี้ผู้ประสบวิกฤตทางการเงินค้างชำระค่างวดทราบกันดี โดนเรียกเก็บค่าทวงหนี้สูงเกินความเป็นจริง บางรายค่าทวงถามราคาสูงว่าค่างวดที่ต้องจ่ายจริงเสียด้วยซ้ำ แถมร้องเรียนผ่านช่องทางของรัฐก็ไม่เป็นผล ยังไงก็ต้องหาเงินมาชำระหนี้ก่อน หรือหากไม่มีไม่หนี้ไม่จ่ายก็เตรียมโดนยึดขายทอดตลาด
นายอนุชา บูรพชัยศรี เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ปีละหลายพันเรื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหนี้สินที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนรายย่อยโดยตรงซึ่งความเดือดร้อนที่พบสามารถแบ่งได้ 3 ส่วน ดังนี้
1) การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ในอัตราสูงมากและแพงเกินสมควร โดยเฉพาะค่าทวงถามหนี้ภาคสนามสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยถูกเรียกเก็บ 2 - 4 หมื่นบาทต่อครั้ง
2) การเก็บค่าทวงถามหนี้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้กี่งวดก็ได้ ทำให้ลูกหนี้บางรายถูกเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้เป็นสิบๆ งวด
3) ความเดือดร้อนที่พบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับประชาชนที่จ่ายค่างวดไม่สูงนัก กลายเป็นว่าค่าทวงถามหนี้อาจจะใกล้เคียงหรือบางครั้งสูงกว่าค่างวดที่ไปทวงเสียอีก
ทั้งนี้ ภายใต้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เร่งเครื่องกำหนดมาตรการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย
ล่าสุด วันที่ 14 ส.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม - ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ใหม่ มีผลบังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เป็นต้นไป โดยจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้รายย่อยกว่า 12.24 ล้านบัญชี โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ ดังนี้
1) อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดค่าทวงถามหนี้ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 1 งวด และให้คิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด
2) อัตราค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะเก็บเพิ่มเติมสำหรับกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ สำหรับค่าใช้ลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ตามที่เกิดขึ้นจริง ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และจะเก็บได้ต่อเมื่อลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด
3) การยุติการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้หลายสิบงวดแบบไม่มีข้อจำกัด คณะกรรมการฯจึงกำหนดให้การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้จะยุติเมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือ มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน
4) การกำหนดค่างวดที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อย ๆ ไม่ให้ต้องจ่ายค่าทวงถามหนี้แพงเกินไปเช่น สมมติมีค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ 750 บาท ถ้าลูกหนี้ค้างชำระค่างวด 1 งวด ไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ แต่ถ้าเกิดค้างชำระอีกเป็น 2 งวดค่างวดค้างชำระสะสมจะเท่ากับ 1,500 บาท กรณีเช่นนี้สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ 50 บาท
ทั้งนี้ อัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจนจะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเหมือนสภาวะสุญญากาศที่เจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้กี่บาทก็ได้ และกี่ครั้งก็ได้ แต่ในอนาคตจากนี้ไป การทวงถามหนี้จะมีกติกาที่ชัดเจนขึ้น เช่น ในกรณีสินเชื่อทั่วไป ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ 4 งวด จะเก็บค่าทวงถามในแต่ละงวดเพียง 50, 100, 100, 100 บาทรวมเป็น 350 บาท ในขณะที่ถ้าเป็นกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะอนุญาตให้เก็บค่าทวงถามหนี้ภาคสนามได้ไม่เกินงวดละ 400 บาท โดยเริ่มเก็บได้ในงวดที่ 2 และต้องหยุดเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา
อย่างไรก็ตาม สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย ระบุว่ารัฐการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ต่ำมากเกินไป ทั้งๆ ที่ผ่านมามีการหารือแนวทางร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ประกาศดังกล่าวสะท้อนว่ารัฐเพิกเฉยข้อเสนอและรายละเอียดต้นทุนของภาคธุรกิจทวงถามหนี้
ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเช่าซื้อ ได้สำรวจต้นทุนการทวงหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียนของสมาชิก เสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ ธปท. ไปแล้ว โดยค้างชำระงวดที่ 1 เก็บที่ 80 - 100 บาท งวดที่ 2 - 4 งวดละ 100 บาท และค่าลงพื้นที่ 400 บาท เป็นต้น
ประกาศดังกล่าวส่งผลต่อธุรกิจติดตามทวงนี้อย่างหนัก ต้องทำความใจก่อนว่าธนาคารและบริษัทเช่าซื้อส่วนใหญ่ใช้ช่องทางว่าจ้าง บริษัท ติดตามทวงถามหนี้ หรือ โอเอ (Outsource Agent : OA) ทำหน้าที่ติดตามหนี้แทน โดยบริษัทโอเอมีระบบในการบริหารจัดการในรูปบริษัท มีการลงทุนพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ห้องเซิร์ฟเวอร์ หรือระบบการบันทึกเสียง เพื่อรองรับการทำงานเป็นมืออาชีพ ซึ่งการกำหนดอัตราค่าทวงถามต่ำมาก อาจทำให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหว
รวมทั้ง ธนาคารและบริษัทเช่าซื้ออาจดึงงานติดตามทวงหนี้กลับไปทำเอง เพื่อลดต้นทุนให้บริษัทอยู่ได้ ดังนั้น ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทโอเอซึ่งมีจำนวนพนักงานทั่วประเทศประมาณ 20,000 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุนอาจต้องลดพนักงานประมาณ 5,000 - 6,000 คน กล่าวคือ 1 ใน 3 ของพนักงานโอเอจะต้องตกงาน
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ ยอมรับว่าประกาศกำหนดอัตราการค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ฉบับดังกล่าว มีผลกระทบต่อรายได้ที่เคยได้รับจากการติดตามทวงถามหนี้ (collection fee) สัดส่วนประมาณ 2% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด โดยบริษัทต้องเปลี่ยนนโยบายการติดตามทวงถามหนี้ที่ปัจจุบันมีการจ้างบริษัทโอเอมาเป็นดำเนินการเอง
แน่นอนว่าต้องมีการปรับวิธีการติดตามทวงหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ไม่หลากหลายจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จนอาจจะส่งผลให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป
ขณะที่ นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการตลาดและบริหารความสัมพันธ์สินเชื่อยานยนต์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ในทิศทางเดียวกัน ระบุความว่า
“สุดท้ายหากแบงก์และผู้ประกอบการทำแล้วไม่คุ้ม อาจจะต้องเด้งผ่านต้นทุนไปยังดอกเบี้ยรถใหม่ที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ 1.99% ทำให้ต้นทุนไหลเพิ่มไปสู่คนที่จ่ายได้ เพื่อชดเชยให้กับคนที่จ่ายไม่ได้ เพราะเกณฑ์ใช้ไม้บรรทัดเดียวกับทุกคน”
ดังนั้น บทสรุปยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด