่
นางสาวศศิธร ริ้วทอง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึง
สถานการณ์การตลาดลำไย ปี 2564 ว่า จากสถานการณ์ลำไยทั่วประเทศในปีนี้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจำนวน 1.4 ล้านตัน หรือ 17 %จากปีก่อน โดยปีนี้ผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 เป็นจำนวนกว่า 420,000 ตัน โดยเป็นผลผลิตในฤดู 260,900 ตัน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเนื้อที่ให้ผลรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลมากกว่าปีกลาย ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงออกดอกและช่วงติดผลอ่อน ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น
ด้านการส่งออกลำไย แบ่งเป็นการส่งออกทั้งสดและอบแห้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 พบว่า การส่งออกลำไยแบบสด มีการส่งออกไปยังประเทศจีน เวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แล้ว 198,079 ตัน และการส่งออกลำไยแบบอบแห้ง มีการส่งไปยังประเทศจีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงค์โปร์ และเกาหลี ไปแล้ว 14,069 ตัน โดยขณะนี้ราคายังอยู่ในราคาที่ทรงตัว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางประเทศจีนได้ตรวจพบการปนเปื้อนเพลี้ยแป้งในลำไยส่งออก จึงขอระงับการส่งออกลำไยจากล้งที่ตรวจพบปัญหาด้านคุณภาพ โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการเจรจากับประเทศจีน และอนุญาตให้ส่งออกได้แล้วทั่วประเทศ 50 ล้ง จังหวัดเชียงใหม่ 27 ล้ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 10 ล้ง ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มงวด มาตรการคัดกรองคุณภาพของลำไยก่อนส่งออกไปจำหน่าย โดยจะมีการสุ่มตรวจทั้งในขั้นตอนการเก็บ การอบ และก่อนการส่งออก ไม่ให้มีเพลี้ยแป้งปะปน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประเทศจีนกลับมาเช่นเดิม
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร สำนักงานพาณิชย์ได้มีมาตรการรองรับผลผลิตลำไยในฤดู ทั้งโครงการสนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยเพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิตจังหวัดเชียงใหม่ โดยรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการในการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตไม่เกิน 3 บาท/กก. เริ่มดำเนินการรับซื้อตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2564 ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการผ่านการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการแล้ว 15 ราย, ด้านการเชื่อมโยงตลาด โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรม Online Business Matching สินค้าลำไยและลำไยแปรรูป และกิจกรรมเจรจาการค้าผ่านช่องทาง Online ระหว่างผู้นำเข้าอินโดนีเซียกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน
นอกจากนี้ได้จัดประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริโภคลำไย ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อรณรงค์การบริโภคลำไย และช่วยซื้อลำไยจากเกษตรกรโดยตรง ,การเชื่อมโยง กระจายผลผลิตลำไยไปยังจังหวัดปลายทาง โดยการสนับสนุนกล่องบรรจุผลไม้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและลดภาระค่าใช้จ่ายบรรจุภัณฑ์, การป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ขึ้นทะเบียนแรงงานรับจ้างเก็บลำไย ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ พร้อมทั้งเข้ารับการอบรมการเก็บลำไยให้ปลอดภัยจากโควิด และการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผลผลิตลำไยของเชียงใหม่