ศึกซูเปอร์แอพ ‘กิน-เที่ยว’ เดือด! ชูค่าคอมฯต่ำ มัดใจผู้ประกอบการ

ศึกซูเปอร์แอพ ‘กิน-เที่ยว’ เดือด! ชูค่าคอมฯต่ำ มัดใจผู้ประกอบการ

  • 0 ตอบ
  • 71 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Prichas

  • *****
  • 2104
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ล่าสุดคือ “แอร์เอเชีย ดิจิทัล” หน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลของกลุ่มแอร์เอเชีย เปิดตัวบริการใหม่ “แอร์เอเชียฟู้ด” (airasia food) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 เพื่อยกระดับ “แอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ” (airasia super app) โดดเด่นเรื่องสินค้าท่องเที่ยว โดยเฉพาะการจองเที่ยวบินและโรงแรมที่พัก พุ่งเป้าสู่จุดหมายสำคัญ นั่นคือการเป็นซูเปอร์แอพชั้นนั้นของภูมิภาคอาเซียน!

หลังจากเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 เจ้าพ่อสายการบินโลว์คอสต์แห่งอาเซียน “โทนี่ เฟอร์นันเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการของ “โกเจ็ก” (Gojek) ส่วนที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท (50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ขณะที่โกเจ็ก สตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซียผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมัลติเซอร์วิสรายใหญ่ชั้นนำของอาเซียน จะเข้าถือหุ้นบางส่วนในแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ ซึ่งมีมูลค่าประเมินทางตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) และทำให้โกเจ็กสามารถเพิ่มการลงทุนในการดำเนินงานได้ โดยเฉพาะในตลาดเวียดนามและสิงคโปร์

วรุฒ วุฒิพงศาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ แอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ กล่าวว่า ด้วยการผนึกความรู้ที่ได้จากความสำเร็จของซูเปอร์แอพในมาเลเซียและสิงคโปร์ ความเชี่ยวชาญของทีมเทเลพอร์ต ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มแอร์เอเชีย ความแข็งแกร่งของทีมแอร์เอเชียในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยว และความเข้าใจในตลาดของทีมงานโกเจ็ก ประเทศไทย จึงเชื่อว่า “แอร์เอเชียฟู้ด” จะสามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้าที่สุดและกลายเป็นทางเลือกที่ผู้คนในกรุงเทพฯนิยมใช้อย่างแน่นอน

โดยบริการ airasia food เปิดตัวพร้อมแคมเปญฟรี 30,000 มื้อตลอดระยะเวลา 30 วัน และส่วนลดอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมให้บริการสำหรับลูกค้าในกรุงเทพฯ 4 พื้นที่ ได้แก่ ดินแดง จตุจักร ลาดพร้าว และห้วยขวาง

จากนั้นจะขยายพื้นที่ให้บริการอีก 4 เขตเร็วๆ นี้ ได้แก่ พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน และวัฒนา โดยในแอพพลิเคชันมีร้านค้ามากมายหลากหลายให้เลือก ตั้งแต่แบรนด์ดังอย่างแมคโดนัลด์ แฟลช คอฟฟี่ หรือคาเฟ่ อเมซอน ไปจนถึงร้านค้าเอสเอ็มอี และเปิดให้บริการตั้งแต่ 6.30 น. ถึง 19.00 น. ของทุกวัน พร้อมตั้งเป้าขยายสู่พื้นที่อื่นๆ อาทิ เชียงใหม่และภูเก็ตในอนาคตอันใกล้

“และสำหรับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ในการเปิดตัวเราขอมอบค่าคอมมิชชั่นเพียง 5% ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนร้านค้าในขณะนี้” วรุฒกล่าว



ฟาก “โรบินฮู้ด” (Robinhood) ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หลังจากรุกทำตลาด “ฟู้ดดิลิเวอรี่” ด้วยการชูจุดขายค่าจีพี (GP: Gross Profit) หรือค่าบริการระบบที่ร้านอาหารจ่ายให้กับแพลตฟอร์มที่ 0% จนสามารถสร้างฐานลูกค้ามากกว่า 2 ล้านรายในปัจจุบัน ให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 4 จังหวัด มีร้านอาหารเข้าร่วมมากกว่า 1.3 แสนราย ไรเดอร์ 2.6 หมื่นคน

ล่าสุดขอกระโดดร่วมวงชิงส่วนแบ่งตลาดบริษัทตัวแทนขายท่องเที่ยวออนไลน์ หรือ “Online Travel Agents” (OTA) ด้วยการนำคอนเซ็ปต์เดียวกับการบุกตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ ชูจุดขาย “Zero GP OTA” เก็บค่าคอมมิชชั่น 0% จากผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว เพื่อหนุนโรบินฮู้ดสู่หมุดหมายการเป็นซูเปอร์แอพ!

สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า โรบินฮู้ดเตรียมเปิดตัวบริการ “โรบินฮู้ด ทราเวล” อย่างเป็นทางการในต้นปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดคนไทยน่าจะออกท่องเที่ยวภายในประเทศได้อีกครั้ง โดยออกแบบบริการให้ครอบคลุมความต้องการสินค้าท่องเที่ยวตลอดเส้นทางการเดินทางของลูกค้า ทั้งที่พักโรงแรม เที่ยวบิน ทัวร์และกิจกรรม รวมถึงบริการรถเช่า

“ธุรกิจ OTA หลายๆ รายของต่างประเทศจะแข่งกันที่ราคา และมีการเก็บค่าคอมมิชชั่นจากผู้ประกอบการประมาณ 30-35% เพื่อทำกำไร แต่โรบินฮู้ดเก็บค่าคอมมิชชั่นที่ 0% เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถออกโปรโมชั่น ขายแพ็คเกจแบบมัดรวม (Bundle Packages) ในการดึงดูดลูกค้าได้ เช่น แพ็คเกจห้องพักแถมสปา แพ็คเกจห้องพักแถมอาหารมื้อค่ำ และอื่นๆ”

พงศ์ศักดิ์ ตฤณธวัช ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ โรบินฮู้ด กล่าวเสริมว่า และในเมื่อไม่มีการเก็บค่าคอมมิชชั่นและค่า Visibility Booster ซึ่งเป็นตัวช่วยเพิ่มอัตราการปรากฏของสินค้าท่องเที่ยวบนหน้าแพลตฟอร์ม ทางโรบินฮู้ดเลือกใช้วิธีเรียงการนำเสนอผู้ประกอบการกลุ่มที่เป็น “Preferred Partners” ซึ่งมีการนำเสนอดีลพิเศษ เพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น ให้วอยเชอร์ส่วนลดสำหรับใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และของแถมต่างๆ จัดเป็นแพ็คเกจให้แก่ลูกค้า ให้ปรากฏอยู่ในหน้าแรกๆ ของแพลตฟอร์ม

“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมบางแห่งมีข้อตกลงกับ OTA รายอื่นว่าไม่สามารถขายในราคาต่ำกว่านี้ได้ ถ้าเช่นนั้น...โรบินฮู้ดบอกไม่เป็นไร ผู้ประกอบการสามารถเสนอขายในราคาเท่ากับ OTA รายอื่นได้ แต่ขอมีสิทธิประโยชน์เพิ่มแต่แก่ลูกค้าแทน โดยโรบินฮู้ดทราเวลเตรียมให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในเดือน พ.ย.นี้ และให้บริการอย่างเป็นทางการทั่วประเทศในไตรมาส 1 ปี 2565”