New China Insights: จับตาเศรษฐกิจจีนปลายปีและแนวโน้มการเติบโตหลังโควิด-19

New China Insights: จับตาเศรษฐกิจจีนปลายปีและแนวโน้มการเติบโตหลังโควิด-19

  • 0 ตอบ
  • 73 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Cindy700

  • *****
  • 3330
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




โดย ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)

ภายใต้การระบาดของโควิด-19 มามากกว่า 2 ปีและหลายระลอก หลายคนปรับตัวเองไปสู่โหมดปกติใหม่เป็นที่เรียบร้อย การระบาดโรคโควิด-19 กระทบการใช้ชีวิต การไปมาหาสู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนต่างก็เริ่มเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องและรายได้ แน่นอนว่าในยามนี้การนำของรัฐในด้านการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ นั้นสำคัญมาก

จีนเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลักสองประการที่สำคัญคือ "หนึ่ง" การระงับการระบาดในประเทศให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด "สอง" การให้คนกลับมาทำงาน การผลิตในฝั่งอุตสาหกรรมให้กลับมาเร็วที่สุด เพราะเหตุผลสองประการนี้ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นขี้นมาตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2020 เป็นต้นมา

หากท่านผู้อ่านติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีนอยู่สม่ำเสมอจะทราบว่าในปี 2020 ทั้งปีจีนมีการเติบโต GDP เฉลี่ย +2.3% ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่เป็นชาติเดียวในโลกที่มีการเติบโตจีดีพีเป็นบวก ส่วนต้นปีนี้หกเดือนแรกการเติบโตจีดีพี ของจีนเฉลี่ยที่ +12.7%

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนมาพร้อมกับนโยบายเบนเข็มที่จะเพิ่มการใช้จ่ายเพิ่มการหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น และการที่จีนคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีก็แลกมาด้วยการปิดประเทศเป็นเวลายาวนาน

ตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปีที่แล้วเป็นต้นมา การปิดประเทศอย่างเข้มข้นของจีนกระทบกับการเดินทางระหว่างประเทศอย่างมาก การนำเข้าสินค้าต่างประเทศก็มีมาตรการเพิ่มเรื่องการป้องกันโรคระบาดขึ้นมา มีการเก็บตัวอย่างบนพื้นผิววัสดุกล่องหรือสินค้าเพื่อตรวจสอบว่ามีตัวไวรัสโควิด-19 อยู่หรือไม่

หมายความว่าระยะเวลาของสินค้าผ่านด่านเข้าออกจะใช้เวลามากยิ่งขึ้น ตรงนี้เป็นความยากลำบากขึ้นของการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ แต่กระนั้นในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กรกฎาคม การค้าต่างประเทศของจีนรวมเติบโตขึ้นกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน 24.5% มีมูลค่าถึง 21.34 ล้านล้านหยวน โดยการส่งออกมีมูลค่ามากกว่านำเข้า แบ่งเป็นส่งออก 11.66 ล้านล้านหยวน และนำเข้า 9.68 ล้านล้านหยวน ทำลายสถิติในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และเกินดุลการค้ารวมกับต่างประเทศ

จีนมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมในการผลิตที่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ครบเครื่อง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศและสถานการณ์โลกปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว

โรงงานโลกของจีนไม่ใช่ศูนย์รวมโรงงานโลกที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แม้อุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นจีนยังหลงเหลืออยู่บ้าง แต่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง-สูงกำลังเติบโตอย่างมากในจีน ทำให้โครงสร้างสินค้าอุตสหกรรมส่งออกของจีนค่อย ๆเปลี่ยนแปลงไป

ด้านการนำเข้าส่งออกของจีนถึงแม้ว่าจะดูเหมือนสดใส แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือเรื่องของ ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global chain Supply) ที่อาจจะหยุดชะงักในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก อีกทั้งสถานการณ์กดดันทางการค้าที่มีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้นการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศสำหรับจีนเป็นเรื่องดีแต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่แฝงตัวอยู่มาก

โดยภาพรวมแล้ว หกเดือนแรกของปีนี้การเติบโตหลังการฟื้นฟูด้านการระบาดของโควิด-19 ของจีนเริ่มเห็นได้ชัดเจน เศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณค่อนข้างดี กำลังการซื้อใช้จ่ายของประชาชนเริ่มกลับมา ราคาสินค้าในประเทศด้านอุปโภคบริโภคค่อนข้างทรงตัว

สิ่งที่รัฐบาลจีนตัดสินใจเด็ดขาดและยืนหยัดในช่วงเวลาสองปีนี้ คือการใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ ให้ใช้บ้านเพื่อการพักอาศัยอย่างแท้จริงไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ร้อนแรงอีกต่อไป แต่จะกลับมาสู่ภาวะทรงๆ ไม่หวือหวา

รัฐบาลท้องถิ่นต่างก็ต้องตอบรับนโยบายของรัฐบาลกลาง ทำให้เงื่อนไขการซื้อบ้านและปล่อยกู้เงินของธนาคารทำได้ยากขึ้น รายได้จากการปล่อยเช่าที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่น ต่อจากนี้อาจจะลดลงแต่ก็ต้องพยายามเบนเข็มไปพัฒนาด้านอื่นที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ทำให้หลังจากนี้ไปเศรษฐกิจจีนจะลดการพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

ผู้เขียนก็สังเกตเห็นว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนหลายแห่งตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ ต่างเริ่มมีปัญหาทางการเงินชัดเจนยิ่งขึ้น อาชีพในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนก็ไม่ร้อนแรง ไม่ทำเงินกันได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนในแต่ก่อนอีกต่อไป

ตัวอย่างใกล้ตัวคือเพื่อนผู้เขียนบางคนที่เคยเป็นเซลล์ขายบ้านก็เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นกันก็มาก

ยังมีมาตรการอีกด้านหนึ่งคือ การลงดาบบริษัทเอกชนไอที ที่เติบโตใหญ่เกิน ไร้ทิศทาง สุดท้ายอาจเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติและประชาชน จึงมีการตรวจสอบที่มากขึ้น การลงโทษปรับเงิน การหยุดให้การสนับสนุน เป็นสัญญาณสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้บริษัทเอกชนนี้เข้าร่องเข้ารอย กล่าวคือต้องคิดถึงประเทศให้มาก ไม่ใช่จะคิดแต่ผลประโยชน์กอบโกยของกลุ่มตนเองไปจนกลายเป็นการผูกขาดตลาด

หากผู้อ่านที่สนใจประเด็นนี้สามารถไปหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับการลงดาบในบริษัทไอทียักษ์ต่าง ๆ ของจีนเช่น Alibaba, Tencent, Didi, Meituan เป็นต้น

มาตรการต่อมา คือเรื่องของการลงดาบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเอกชน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและชักนำแนวคิดทางการศึกษาไปในทางบิดเบี้ยว ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือการจัดระเบียบของรัฐบาลจีน ที่เราก็พอจะคาดเดาได้ถึงแนวทางและแนวโน้มการเติบโตของจีนจะเป็นอย่างไร


หกเดือนสุดท้ายของปลายปีนี้จนอนาคต แนวทางการเติบโตของจีนจะเป็นแบบการเติบโตแบบมีคุณภาพหรือที่ภาษาจีนว่า "高质量发展" (เกาจื่อเลี่ยงฟาจ่าน) จากปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบันจะผลักดันสู่การหาทางออกในอนาคต "ประการแรก" คือ มองไกล มีความต่อเนื่อง

"ประการที่สอง" ต้องเป็นกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว ประหยัดและสะอาด เป็นต้น

"ประการที่สาม" คือหลักประกันคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ นอกเหนือจากประกันสังคมพื้นฐานที่มีอยู่ จีนจะสนับสนุนกิจการประกันภัยและผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อสังคมมากขึ้น

ในปัจจุบันอัตราการซื้อประกันภัยส่วนตัวของประชาชนจีนยังต่ำอยู่มาก เนื่องจากการขาดความรู้และขาดความเชื่อมั่นในบริษัทประกันภัย ทำให้ต่อจากนี้รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมและตรวจสอบมากยิ่งขึ้น เพื่อความโปร่งใสและประโยชน์ระยะยาวที่แท้จริงของประชาชน

"ประการที่สี่" คือการลงทุนพื้นฐานของรัฐบาลในพื้นที่ห่างไกล กระจายความเจริญ ผลักดันการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสินค้าเกษตร เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

หลังจากนี้ไปจีนจะสนับสนุนธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติอย่างจริงจัง ยับยั้งการผูกขาดตลาด ปรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับยุคสมัย

การเปิดประเทศรับการลงทุนที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนส่งผลให้ในปี 2020 จีนกลายเป็นประเทศที่รับการลงทุนทางตรงจากต่างชาติมากที่สุดในโลกจำนวนกว่า 1.05 ล้านล้านหยวนอีกด้วย

จีนแม้ว่าจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดหนักของโรคโควิด-19 มาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นปัญหาด้านทั้งในและต่างประเทศก็ยังมีความท้าทาย ดังนั้นต้องค่อย ๆ หาทางออกกันไปทีละเปราะ