‘ไร่รวมใจ’ เชิญร่วมเป็นกองหนุนบุคลากรทางการแพทย์ต่างจังหวัดสู้ศึก ‘โควิด’ ผ่านข้าวกล่องสุขภาพ

‘ไร่รวมใจ’ เชิญร่วมเป็นกองหนุนบุคลากรทางการแพทย์ต่างจังหวัดสู้ศึก ‘โควิด’ ผ่านข้าวกล่องสุขภาพ

  • 0 ตอบ
  • 62 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Shopd2

  • *****
  • 2300
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




โครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’ ของ ไร่รวมใจ เกิดจากความต้องการที่จะทำประโยชน์คืนกลับสู่สังคมผ่านจุดแข็งของแบรนด์ ‘ใส่ใจ’ นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ไม่ใส่สารเคมี ปราศจากสารปรุงแต่ง 100% เพื่อสุขภาพที่ดี

เดิมที ไร่รวมใจ มีโครงการช่วยเหลือสังคมทุกปี อย่างเช่นในปีพ.ศ. 2563  มีการทำกิจกรรมโยคะสุริยนมัสการ 108 รอบ หรือ ‘โยคะมาราธอน’ ผ่านการไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก ในกิจกรรมนี้ผู้บริจาคเงิน เพื่อซื้อข้าวกล้องออร์แกนิคของไร่รวมใจ หากซื้อได้ 10 กิโลกรัม ทาง ‘ไร่รวมใจ’ จะสมทบข้าวกล้องออร์แกนิคอีก 10 กิโลกรัม มอบให้กับ ‘สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี’ เพื่อใช้ในกิจการบ้านพักของสตรีที่ถูกข่มเหงซึ่งอยู่ในความดูแลของสมาคมฯ มาปีนี้โควิดเกิดการระบาดระลอกสาม พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การแพทย์ ก็ยังมีเรื่อง ‘อาหาร’ ที่ไม่ควรมองข้าม พัชร์ เคียงศิริ ผู้บุกเบิก ‘ไร่รวมใจ’ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่รวมใจ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ถึงที่มาของการริเริ่มโครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’ สนับสนุนอาหารสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเริ่มต้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี


พัชร์ เคียงศิริ กับโครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’

“เราในฐานะบุคคลทั่วไปไม่เคยสนใจว่าหมอและพยาบาลกินข้าวยังไง แต่หมอและพยาบาลก็เหมือนคนทำงานออฟฟิศ เข้าออกงานเป็นเวลา ต้องรับผิดชอบอาหารของเขาเอง ประเด็นคือ หมอ-พยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด เขาต้องระวังตัว ไม่สามารถออกมานอกวอร์ดโควิด (ward) หรือออกมานอกบริเวณนั้นได้ โดยไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะถ้าออกมาทั้งชุดปฏิบัติงานอย่างนั้น ก็เท่ากับเอาเชื้อโควิดออกมาข้างนอกด้วย การที่เขาจะออกมามันเลยยาก ต้องออกจากชุดพีพีอี ต้องทำตัวให้ปลอดเชื้อก่อน ทำให้เขาไม่สามารถจะมีข้าวได้ รุ่นน้องผมที่เป็นพยาบาลโรงพยาบาลรามาฯ เคยคุยกัน เขาก็เล่าให้ฟังว่ามันก็เป็นอย่างนี้ ผมก็เลยมาคุยกันที่ออฟฟิศ ชักชวนเพื่อนฝูงที่รู้จักมาช่วยกันทำเป็นโครงการนี้” พัชร์ เคียงศิริ กล่าว


ข้าวกล่องโดยใช้ "ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 ออร์แกนิค" ของ "ไร่รวมใจ"

คุณพัชร์และกลุ่มเพื่อน รวมถึงผู้ใหญ่ที่นับถือ ระดมทุนจัดหา ข้าวกล่อง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างแท้จริง ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม-17 สิงหาคม 2564 รวม 42 วัน จาก 150 กล่อง/วัน เพิ่มเป็น 200 กล่อง/วัน รวม 7,850 กล่อง ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี และกำลังต่อยอดโครงการนี้สู่ โรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในต่างจังหวัด เนื่องจากเห็นว่ามีผู้ป่วยโควิดเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดเป็นจำนวนมากขึ้น ตามนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม


โครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’ ที่ โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว

โครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’ สำหรับต่างจังหวัด เริ่มแล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ซึ่งมีคลัสเตอร์ตลาดโรงเกลือ ก่อนการประกาศล็อคดาวน์ โรงพยาบาลมีป่วยโควิด 40 คน ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 144 คน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยมีเท่าเดิมคือ 20 คน ต้องแบ่งการทำงานเป็น 3 กะ

ข้าวกล้องออร์แกนิคของไร่รวมใจและหนึ่งในรายการอาหารของ SAIJAI SLIM ที่ให้ความอิ่มเชิงคุณภาพ

สำหรับ โมเดล หรือ ‘รูปแบบการบริหารจัดการ’ เพื่อทำข้าวกล่องส่งบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว คุณพัชร์ใช้วิธีส่งข้าวกล้องออร์แกนิคของไร่รวมใจและรายการอาหารของ SAIJAI SLIM ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่ให้ความอิ่มเชิงคุณภาพ พร้อมวิธีทำอย่างครบถ้วน ให้กับชุมชนละแวกที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ และมอบเงินส่วนหนึ่ง ที่ได้รับจากการสมทบทุนในโครงการ “ใส่ใจ FEED TO FIGHT” ให้กับ อาสาสมัครในชุมชน เป็นค่ากับข้าวและปรุงอาหารมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยขอให้รวมตัวกันไม่เกิน 5 คน (ป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่) รวมทั้งผู้ทำหน้าที่จัดส่งข้าวกล่องไปโรงพยาบาล เท่ากับเป็นการ กระจายรายได้ สู่คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งในภาวะที่การประกอบอาชีพเป็นไปด้วยข้อจำกัดและความยากลำบาก

โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร

ล่าสุดคุณพัชร์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังวางแผนเริ่มโครงการ “ใส่ใจ FEED TO FIGHT” ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร ซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกันที่จำนวนผู้ป่วยโควิดจากราว 50 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และในชุมชน ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ด้วยการจัดทำข้าวกล่องคุณภาพ โดยคุณพัชร์และทีมงานกำลังรวบรวมทุนทรัพย์เพื่อเดินหน้าโครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’ ที่ โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร ด้วยโมเดลเดียวกับที่โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว คือการจัดทำข้าวกล่องที่ใช้ข้าวหอมมะลิ 105 ตราใส่ใจพร้อมเมนูอิ่มเชิงคุณภาพจาก SAIJAI SLIM และกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านทีมอาสาสมัครในท้องถิ่น โครงการนี้จะเริ่มวันที่ 25 สิงหาคม และสิ้นสุดในวันที่ 5 ตุลาคม 2564

เชิญร่วมให้กำลังใจและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร

ผู้สนใจร่วมสนับสนุนและให้กำลังใจทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งกำลังทำงานอย่างหนักด้วยความเสียสละ ผ่านโครงการ ‘ใส่ใจ FEED TO FIGHT ช่วยหมอ พยาบาล ต้านโควิด’ ณ โรงพยาบาลโพนนาแก้ว จ.สกลนคร สามารถแจ้งความประสงค์และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @saijai_wellbeing และ โทร.087 365 3556