Review รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต นับหนึ่งถึงอนาคต

Review รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต นับหนึ่งถึงอนาคต

  • 0 ตอบ
  • 75 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Chanapot

  • *****
  • 3237
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




2 สิงหาคม 2564 เวลา 10.29 น. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการที่สถานีกลางบางซื่อ แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร มี 10 สถานี และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร มี 3 สถานี

พร้อมกับ สถานีกลางบางซื่อ ที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบรางที่ใหญ่ที่สุด รองรับทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในอนาคต

แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะเปิดให้บริการจากสถานีกลางบางซื่อ เที่ยวแรก 06.00 น. เที่ยวสุดท้าย 19.30 น. ตามมาตรการของภาครัฐ แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ก็มีแผนที่จะเปิดให้บริการไปถึงเวลา 24.00 น.

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงครั้งแรก แม้จะช้ากว่าคนอื่นบ้าง แต่ก็พยายามสังเกต และเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อที่จะบอกเล่าคุณผู้อ่านให้ฟัง เป็นประโยชน์ในการเดินทางไม่มากก็น้อย

ถึงแม้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้เวลายาวนาน 12 ปี กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง นับตั้งแต่ก่อสร้างงานโยธาช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันในปี 2552 แต่ยอมรับว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำการบ้านไว้ดีมาก

โดยเฉพาะปัญหาหลักคือ “เมื่อถึงปลายทางแล้วจะไปยังไงต่อ?” จำเป็นต้องมีระบบฟีดเดอร์ (Feeder) เชื่อมต่อกัน

นอกจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อแล้ว องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังเพิ่มเส้นทางรถเมล์ 4 สาย รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง

ขณะที่กระแสสังคม โดยเฉพาะบรรดาคนรักรถไฟ ต่างช่วยกันผลักดันรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วยกันสื่อสารและบอกต่อเพื่อให้ประชาชนสนใจทดลองใช้บริการ แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ จะทำให้ช่วงนี้ผู้โดยสารเดินทางไม่มากก็ตาม

น่าสนใจว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงจะเติมเต็มการเดินทางและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร ขอพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง



เราตั้งต้นมาที่ สถานีชุมทางตลิ่งชัน ที่เป็นทั้งสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟทางไกลสายใต้ จากสถานีกรุงเทพและสถานีธนบุรี ถ้านั่งรถไฟจากภาคใต้หรือภาคตะวันตก ก็ลงที่สถานีนี้ และเปลี่ยนมานั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงได้

ส่วนรถประจำทาง ปัจจุบัน ขสมก. ได้เพิ่มเส้นทาง สาย 79 (เสริม) ออกจากอู่บรมราชชนนี ผ่านสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ผ่านสถานีตลิ่งชัน สถานีบางบำหรุ ไป MRT สิรินธร, MRT บางยี่ขัน สิ้นสุดที่สถานีขนส่งสายใต้เดิม (ปิ่นเกล้า)

แต่ถ้าไม่อยากรอรถเมล์นาน ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ ลงรถเมล์ที่ ป้ายไปรษณีย์ตลิ่งชัน ถนนบรมราชชนนี เดินย้อนไปปากทางถนนฉิมพลี ก่อนถึงสะพานลอย แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะใกล้กว่าและเร็วกว่า

รถเมล์สายที่ผ่านป้ายไปรษณีย์ตลิ่งชัน ได้แก่ รถที่ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ตลิ่งชัน (สาย 28, 35, 40, 66, 507, 511) จากถนนบรมราชชนนี (สาย 79, 123, 124, 515, 539, 556) ถนนกาญจนาภิเษก (สาย 127, 516)

รวมทั้งคนที่นั่งรถตู้จากบางบัวทองไปปิ่นเกล้า หรือรถตู้ บ.ข.ส. จากนครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี ฯลฯ ที่จะไปสายใต้เดิม ปิ่นเกล้า ก็บอกคนขับให้จอดที่ป้ายไปรษณีย์ตลิ่งชัน แล้วเดินย้อนมาที่ถนนฉิมพลี ต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้เช่นกัน

แต่สำหรับคนที่นั่งรถเมล์ สาย 515 ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ สาย 539 อ้อมน้อย-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แนะนำให้ใช้บริการสถานีบางบำหรุ จะสะดวกกว่า โดยลงรถเมล์ที่ ป้ายสถานีบางบำหรุ แล้วเดินย้อนไปที่สถานีไม่กี่ก้าวเท่านั้น

ส่วนคนที่ลงรถไฟที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน สามารถรอรถเมล์สาย 79 (เสริม) ได้ที่จุดจอดรถเมล์ด้านหน้าสถานี ส่วนสถานีบางบำหรุ ป้ายรถเมล์จะอยู่ฝั่งถนนเลียบทางรถไฟ ใต้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก









ด้านในสถานีชุมทางตลิ่งชันจะมี เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ 7 เครื่อง เครื่องเติมเงินอัตโนมัติ (Add Value Machine) 1 เครื่อง น่าสังเกตว่าเติมเงินได้ทั้งเหรียญ ธนบัตร รวมทั้งบัตรเครดิตได้ด้วย แต่ช่วงนี้เครื่องทั้งหมดยังไม่เปิดให้บริการ

หลังสแกนไทยชนะ ตรวจวัดอุณหภูมิแล้ว ตรงประตูกั้นอัตโนมัติ พนักงานจะให้สแกนคิวอาร์โค้ด เข้าสู่ Google Forms ตอบคำถามเพียงแค่จะไปลงที่สถานีไหนก็พอ ไม่ถามข้อมูลส่วนตัว เพื่อเก็บข้อมูลผู้โดยสารนำไปพัฒนาบริการ

เมื่อเข้าประตูกั้นอัตโนมัติแล้ว จะลงบันไดเลื่อนไปชั้นใต้ดิน ไปตามทางเดินเพื่อลอดอุโมงค์ไปยังชานชาลาที่ 1 แล้วขึ้นบันไดเลื่อนอีกครั้ง จะเห็นขบวนรถไฟฟ้าที่คนรักรถไฟเรียกกันว่า “หนูแดง” จอดอยู่

สัมผัสแรกที่พบเห็น พลันนึกถึง ตอนข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย นั่งรถไฟ กอมมูเตอร์ (Komuter) จากสถานีปาดังเบซาร์ ไปสถานีบัตเตอร์เวอร์ธ ระยะทาง 170 กิโลเมตร เป็นรถปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า นั่งแล้วรู้สึกชอบมาก

เคยนึกฝันว่า ประเทศไทยน่าจะมีแบบนี้ วันนี้ได้เกิดขึ้นจริง แม้ระยะทางจะสั้นไปหน่อยก็ตาม









ด้านในขบวนรถจะเป็นหน้าต่างบานใหญ่ เก้าอี้พลาสติกสีแดง ด้านบนจะมีชั้นวางของ มีป้ายบอกสถานี และหน้าจอบอกสถานะสถานีที่มาถึง เสียงแจ้งเตือนปิดประตูจะคล้ายกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ แต่เวลาปิดประตู เสียงจะดังน้อยกว่า

เมื่อนึกถึงเสียงประกาศบนรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินและสีม่วง แอ้ม-สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ประกาศข่าว จะออกแนวขึงขัง หนักแน่น ส่วนเสียงประกาศบนของรถไฟฟ้าบีทีเอส โหน่ง-พิมพ์ลักษณ์ กมลเพชร นักร้องชื่อดัง จะออกแนวหวานแหลม

แต่สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ทราบว่าใช้เสียงของ แอน-นันทนา บุญหลง นักร้อง นักพากษ์ชื่อดัง และ นงอร มาสมบูรณ์ อดีตแอร์โฮสเตสสาว เสียงจะออกแนวหวานละมุนปนหนักแน่นเล็กน้อย







จากสถานีชุมทางตลิ่งชัน ใช้เวลาประมาณ 4 นาที แวะจอดที่สถานีบางบำหรุ ก่อนที่จะวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แวะจอดที่สถานีบางซ่อน ซึ่งเป็นสถานีสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ เบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 15 นาทีพอดี

เมื่อลงจากขบวนรถ ทีแรกรู้สึกงงเล็กน้อยว่าจะไปทางไหน เพราะต้องการเปลี่ยนขบวนรถไปรังสิต ไม่ได้ต้องการออกจากสถานี กระทั่งตัดสินใจลงบันไดเลื่อนก็ถึงบางอ้อ มีป้ายบอกทาง “รถไฟฟ้าชานเมือง บางซื่อ-รังสิต ไปชานชาลา 3-4”

จำไว้ว่า ถ้าจะเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อ ให้ลงบันไดเลื่อนแล้วสังเกตป้าย ก่อนขึ้นบันไดเลื่อนไปชานชาลาอีกครั้ง “รถไฟฟ้าชานเมือง บางซื่อ-รังสิต ไปชานชาลา 3-4” และ “รถไฟฟ้าชานเมือง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ไปชานชาลา 9-10”







ปัญหาอย่างหนึ่งของสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงสถานีอื่นๆ คือ ป้ายบอกทางไม่มีความโดดเด่น สีกลืนกันหมด ทำให้เวลาอ่านมองไม่ชัด ถ้าเปลี่ยนรูปแบบให้ตัวหนังสือชัดเจนขึ้นก็จะดีกว่านี้

เราขึ้นมายังชานชาลา 3-4 ซึ่งเป็นชานชาลาขบวนรถที่จะมุ่งหน้าไปรังสิต ใช้เวลารอรถไฟเข้าสู่ชานชาลาประมาณ 10 นาที รถไฟฟ้าจากรังสิตก็มาถึง และเปิดให้ผู้โดยสารขึ้น-ลงจากขบวนรถ โดยไม่ต้องรอตรวจความเรียบร้อย

รถไฟจะจอดที่สถานีชุมทางบางซื่อประมาณ 5 นาที จากนั้นจะปิดประตู และเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปยังรังสิต สถานีแรกที่จอดคือสถานีจตุจักร ต่อด้วยสถานีวัดเสมียนนารี แนวเส้นทางจะขนานไปกับถนนวิภาวดีรังสิต

ผ่านสถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ และ สถานีดอนเมือง ที่หากนับจากสถานีกลางบางซื่อ จะใช้เวลาประมาณ 18 นาที ต่อไปจะนั่งเครื่องบินไปต่างจังหวัด ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ที่สถานีนี้

โดยจะมีทางเชื่อมสกายวอล์ก ที่ทางออกหมายเลข 6 (ถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก) จะเห็นทางเลื่อนใต้ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ให้เดินเข้าไปตามป้ายบอกทาง ก็จะไปออกอาคารจอดรถ 7 ชั้น และอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2)







เดิมเวลาไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง ปกติจะขึ้นรถ A1 หรือ A2 ที่สถานีสวนจตุจักร เสียค่าโดยสาร 30 บาท รถจะขึ้นทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ไปลงที่ทางลงสนามบินดอนเมือง จอดที่หน้าอาคาร 1 แล้วเดินเท้าไปเข้าอาคาร 2

นับจากนี้ คนที่นั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะไปสนามบินดอนเมืองก็สะดวกขึ้น เพียงแค่ลงที่สถานีบางซื่อ ออกจากระบบแล้วเดินเข้าทางเชื่อมสถานีกลางบางซื่อ ซื้อตั๋วเข้าระบบเสร็จเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชานชาลา 3-4 แล้วรอรถได้เลย

แต่ต้องกะเวลาเดินทางสัก 2-3 ชั่วโมง เผื่อรถไฟฟ้าขัดข้อง และสกายวอล์กเดินไกลมาก แต่ถ้ามีเวลาเหลือ จะมีศูนย์อาหารราคาประหยัด Magic Food Point อยู่ตรงนั้น ถัดมามีร้านยาเอ็กซ์ตร้า กาแฟมวลชน และร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

เมื่อออกจากสถานีดอนเมือง ขบวนรถจะลงมายังทางระดับดิน สังเกตได้ว่ารถไฟจะเร่งความเร็วขึ้น ผ่านตลาดสี่มุมเมือง ถึงสถานีหลักหก จุดนี้จะมีสกายวอล์กไปยังสะพานเอกทักษิณ มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านเมืองเอก และมหาวิทยาลัยรังสิต

จากนั้นรถไฟจะไต่ระดับลอยฟ้าอย่างช้าๆ ข้ามถนนรังสิต-ปทุมธานี เข้าสู่ปลายทางสถานีรังสิต หากนับจากสถานีตลิ่งชันจะใช้เวลารวมกัน 55 นาทีเท่านั้น ซึ่งรวมเวลาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อด้วย



สถานีรังสิต เป็นทั้งสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟทางไกลสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งออกเป็นชานชาลาด้านล่างรถไฟทางไกล ชั้น 2 ห้องจำหน่ายตั๋ว และชั้น 3 ชานชาลารถไฟฟ้าสายสีแดง

บริเวณตรงข้ามประตูกั้นอัตโนมัติ จะมีห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกล ถ้าจะนั่งรถไฟต่อไปอยุธยา ชุมทางบ้านภาชี หรือสถานีอื่นๆ สามารถซื้อตั๋วรถไฟแล้วลงไปที่ชั้นล่าง รวมทั้งมีตู้จำหน่ายตั๋วรถไฟอัตโนมัติสำหรับรถไฟชานเมืองอีกด้วย

เวลาคนที่นั่งรถไฟจากภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือมาจากลพบุรี ชุมทางแก่งคอย ชุมทางบ้านภาชี อยุธยา จะไปต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ลงที่สถานีรังสิต แล้วขึ้นไปชั้น 2 เข้าระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วขึ้นไปชั้น 3 รอรถไฟที่ชานชาลาได้

เหมือนกับเวลานั่งรถไฟจากภาคตะวันออก หรือมาจากฉะเชิงเทรา จะไปต่อรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ เดินขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้น 2 ซื้อเหรียญหรือแตะบัตรโดยสาร แล้วขึ้นไปชั้น 3 แต่ที่ตั้งสถานีลาดกระบัง รถไฟธรรมดากับแอร์พอร์ตลิงก์จะแยกกัน

ทราบมาว่าในอนาคต รถไฟทางไกลสายเหนือและสายอีสาน มีแผนจะไปเริ่มต้นที่สถานีรังสิต โดยจะมีขบวนรถที่ให้บริการสถานีกลางบางซื่อ เฉพาะขบวนรถพาวเวอร์คาร์ (รถกำลังไฟฟ้า) มี 4 ขบวน ไป-กลับ รวม 8 ขบวน

ได้แก่ ขบวนรถอุตราวิถี (กรุงเทพ-เชียงใหม่) อีสานวัตนา (กรุงเทพ-อุบลราชธานี) อีสานมรรคา (กรุงเทพ-หนองคาย) และทักษิณารัถย์ (กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่) เท่านั้น เพราะไม่มีปัญหาเรื่องควันรถและมลพิษในสถานี

อีกส่วนหนึ่งจะเป็นขบวนรถไฟชานเมือง ได้แก่ กรุงเทพ-ชุมทางบ้านภาชี, กรุงเทพ-ลพบุรี, กรุงเทพ-ชุมทางแก่งคอย จะใช้ทางรถไฟยกระดับ แต่จะไม่เข้าสถานีกลางบางซื่อ ลงมาระดับดินผ่านสถานีบางซื่อเก่า เพื่อไปยังสถานีหัวลำโพง

เรื่องนี้ต้องรอให้การรถไฟฯ ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่บอกไว้ก่อนเพื่อจะได้เตรียมตัว