วันนี้ (15 ส.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลง
สถานการณ์โควิด-19 และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อใหม่ 535,817 ราย สะสม 207,446,049 ราย เสียชีวิตใหม่ 8,511 ราย สะสม 4,365,961 ราย ประเทศพบผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดยังเป็นสหรัฐอเมริกา รายใหม่ 44,660 ราย สะสม 37.4 ล้านราย อินเดีย 36,127 ราย สะสม 32.1 ล้านราย โดยหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนป้องกันกว้างขวางแต่ยังพบการติดเชื้อใหม่จำนวนมาก แต่ผลของวัคซีนจะลดการเสียชีวิตให้น้อยลง ทั้งนี้ อัตราป่วยต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน พบว่า สหรัฐฯ ยังสูงสุด 112,362 ราย อังกฤษ 91,397 ราย มาเลเซีย 42,169 ราย ส่วนไทย 12,960 ราย ขณะเดียวกัน อัตราตายต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน พบว่า อังกฤษ 1,917 ราย สหรัฐ 1,913 ราย และไทย 108 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า วันนี้รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่ 21,882 ราย ตั้งแต่การระบาดปี 2563 สะสม 907,157 ราย หายป่วยกลับบ้าน 21,106 ราย เป็นวันที่มีการติดเชื้อเกิน 2 หมื่นอีกครั้งและหายป่วยอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศดูจุดสำคัญนอกจากตัวเลขติดเชื้อใหม่ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก แต่ผู้ที่มีอาการป่วยจนเข้าโรงพยาบาล(รพ.) หรือเสียชีวิตจะเป็นตัวบอกแนวโน้มสำคัญ ซึ่งไทยมียอดผู้ป่วยปอดอักเสบ 5,615 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,172 รายในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) 362 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตใหม่ 209 ราย สะสมในการระบาดรอบเดือนเม.ย.64 รวม 7,458 ราย คิดเป็น 0.85% เป็นตัวเลขต่ำกว่า 1% ที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ผู้เสียชีวิต 209 ราย อยู่ในกทม. 83 ราย ใน5จังหวัดปริมณฑล 58 ราย รวมกันเป็น 141 รายซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตโดยรวม เป็นเพศชาย 117 ราย เพศหญิง 92 ราย ค่ากลางอายุที่ 68 ปีจะเห็นว่าจุดสำคัญคือผู้สูงอายุ โดยข้อมูลผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 137 รายคิดเป็น 66% และน้อยกว่า 60 ปี พบว่า โรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว 48 รายคิดเป็น 23% ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วสูงถึง 89% ซึ่งเป็นเหตุผลที่เน้นย้ำให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ขณะที่ หญิงตั้งครรภ์ พบ 2 รายที่ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวานและภาวะอ้วน โรคประจำตัวอื่นๆ
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กองระบาดวิทยา ได้รวบรวมผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ข้อมูลตั้งแต่ 1 พ.ค.-14 ส.ค. 6,758 ราย พบว่าเป็นกลุ่มอายุ 60-69 ปีขึ้นไป 24% อายุ 70 ปีขึ้นไป 42% รวมกันสูงถึง 68% ซึ่งต้องติดตามต่อเนื่องเพื่อระบุความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตให้ชัดเจนเพื่อเน้นการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน ภาพรวมสถานการณ์ไทย การติดเชื้อยังรายงานอยู่ในระดับสูงและคงตัวอยู่ เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการที่เข้มข้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ส.ค. พื้นที่ต่างจังหวัด เดิมจะน้อยกว่ากทม.และปริมณฑล และช่วงหลังการกระจายออกไปเยอะ จึงเป็นส่วนที่มากขึ้นมาก
เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่รักษาโควิด ประมาณ 10-14 วัน แต่กลับมาในชุมชนจะเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากประชาชนในชุมชนยังกังวล นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยมาจากคณะผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่าย ซึ่งยังยึดครบ 14 วันนับจากวันเริ่มป่วยวันแรก ดังนั้น หากเริ่มป่วยไปรักษาในรพ. 14 วัน แต่อาการดีขึ้นประมาณ 10 วันก็สามารถกลับมารักษาต่อที่บ้านจนครบ 14 วันได้ แต่เมื่อครบ 14 วันก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เหมือนเช่นเดิม ส่วนที่ระบุว่าต้องตรวจให้เจอว่ามีเชื้อหรือไม่ แนวทางชัดเจนว่าไม่ได้แนะนำว่าต้องตรวจ เพราะการตรวจอาจเจอซากเชื้อปริมาณน้อยๆได้ สิ่งสำคัญต้องยึดมาตรการนิวนอร์มอลเช่นเดิม