ธุรกิจโรงแรมอ่วมหนัก 60% ขาดสภาพคล่อง อีก 3 เดือนทยอยปิดตาย

ธุรกิจโรงแรมอ่วมหนัก 60% ขาดสภาพคล่อง อีก 3 เดือนทยอยปิดตาย

  • 0 ตอบ
  • 82 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Chigaru

  • *****
  • 2319
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ถึงนาทีนี้ธุรกิจโรงแรมยังมองไม่เห็นหนทางฟื้นจากอาการโคม่า ล่าสุดแบงก์ชาติเผยผลสำรวจผู้ประกอบการโรงแรมยังอ่วมพิษโควิด-19 ทรุดลงต่อเนื่อง สภาพคล่องหดหายอยู่ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน ขณะที่อัตราการเข้าพักดิ่งสุดเหลือแค่ 10% ร้องขอวัคซีน-พักหนี้-พยุงการจ้างงาน 

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (HSI) ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกเดือนยังไม่มีทีท่าจะผ่านพ้นวิกฤต หนำซ้ำกลับหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ด้วยโครงการนำร่อง  “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”  เชื่อมโยงกับจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ก็ตาม

ล่าสุด ผลสำรวจฯ ในเดือนกรกฎาคม 2564 จากผู้ประกอบการที่พักแรม 304 แห่ง (เป็น ASQ 28 แห่ง Hospitel 4 แห่ง) ระหว่างวันที่ 13-26 กรกฎาคม 2564 พบว่า ผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเนื่อง โดยอัตราการเข้าพักยังอยู่ในระดับต่ำมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 10% ซึ่งทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกือบ 60% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน และเพียงพอในการดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือน ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลบวกต่ออัตราการเข้าพักโดยรวมไม่มากนัก

ทั้งนี้ หากไม่รวมกลุ่มที่ปรับตัวมารับลูกค้าต่างชาติที่ทำงานในไทย และ workation, staycation รวมถึงกลุ่มที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโครงการ “แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งส่วนมากเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2564 จะอยู่ที่เพียง 6.5% เท่านั้น ส่วนคาดการณ์อัตราการเข้าพักทั้งประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 จะปรับลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 8% โดยทุกภูมิภาคของประเทศไทยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่า 10%

อัตราการเข้าพักที่ลดลงดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบทำให้ 58% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 และเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน และมีอีก 23% ที่มีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะที่ 57% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด รายได้ยังกลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

จากการสำรวจสถานะกิจการของผู้ประกอบการ 272 แห่ง (ไม่รวม ASQ และฮอสพิเทล) มีโรงแรมเพียง 40.1% ที่ยังเปิดกิจการปกติ ที่เหลือ 38.2% เปิดกิจการเพียงบางส่วน และอีกกว่า 21.7% ที่ยังปิดกิจการชั่วคราว โดยสัดส่วนของโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.เล็กน้อย 2.2%

ผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า จากโรงแรมจำนวน 272 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น ASQ และ Hospitel) พบว่า 56% ของโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวนั้น คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้งในไตรมาส 4/2565 และราว 13.6% คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการได้ในไตรมาส 1/2565 ส่วนอีก 6.8% คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการได้ในไตรมาส 2/2565 และอีก 11.9% จะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

 ขณะที่สถานการณ์รายได้ในเดือนกรกฎาคม พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 56.9% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด มีรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่วนโรงแรมที่มีรายได้ที่ระดับ 11-30% มีสัดส่วน 18.3%, โรงแรมที่มีรายได้ระดับ 31-50% มีสัดส่วน 3.6%, โรงแรมที่มีรายได้ระดับ 51-70% มีสัดส่วน 7.1% และโรงแรมที่มีรายได้ระดับมากกว่า 70% มีสัดส่วน 14.2% 

สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ส่งผลบวกต่ออัตราการเข้าพักโดยรวมไม่มากนัก โดยพบว่า 50% ของโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต มองว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นไปตามที่คาด ซึ่งมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 16% ขณะที่อีก 43% ของโรงแรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มองว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แย่กว่าที่คาด โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่อยู่ในระดับต่ำเพียง 6% เท่านั้น และพบว่าผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 69% เห็นด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมกลับมาจ้างงานเฉลี่ย 53% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (หากไม่รวมกลุ่มปิดกิจการชั่วคราวจะเฉลี่ยอยู่ที่ 59%)



 นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่า ปัจจุบันการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวลดลงแล้วกว่า 50% หากดูตัวเลขในภาวะปกติจะมีโรงจดทะเบียนกับสมาคม 16,282 โรงแรม มีพนักงานในระบบมากกว่า 860,000 คน แต่หลังจากโควิด-19 คาดว่ามีพนักงานตกงานมากกว่า 460,000 คน และออกจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไปแล้ว ที่เหลืออีกประมาณ 400,000 คน อาจได้รับเงินเดือนไม่เต็มเดือน ลดเวลาทำงาน เพราะโรงแรมไม่มีรายได้เลย

หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ สมาคมโรงแรมไทย ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือ เช่น การจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วกว่าแผน, มาตรการช่วยเหลือเงินกู้และพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เพื่อพยุงไม่ให้ผู้ประกอบการขายกิจการทิ้ง, ขอลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งการสนับสนุนค่าจ้างเพื่อพยุงการจ้างงานรอวันธุรกิจฟื้นคืน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ  “โครงการโกดังพักหนี้”  ที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมนั้น นายกสมาคมโรงแรมไทย สะท้อนว่า ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าเท่าที่ควร เนื่องจากแบงก์พาณิชย์มีเงื่อนไขมากมาย เช่น ให้เฉพาะลูกหนี้ชั้นดี มูลค่าหนี้ต่ำ ทำให้ยากเข้าถึงความช่วยเหลือ

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่า ช่วง 40 วันของโครงการ นับจากวันที่ 1 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 25664 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการสะสม 18,654 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ 18,602 คน คัดกรองพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 52 คน

ด้านยอดจองห้องพักโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA+ พบว่าตลอดไตรมาส 3/2564 มีจำนวน 353,529 คืน แบ่งเป็นเดือนกรกฎาคม 190,843 คืน เดือนสิงหาคม 143,566 คืน และเดือนกันยายน 19,120 คืน ส่วนยอดการจองในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 9,797 คืน

แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันทะลุขึ้นหลัก 2 หมื่นคนแล้วนั้น ยังยากที่จะประสบผลสำเร็จ หลายชาติมีคำเตือนต่อพลเมืองที่จะเดินทางมายังไทย โดยล่าสุดหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ หรือ ซีดีซี (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) ยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังปรับคำเตือนสูงสุดขั้นที่ 4 สำหรับผู้ที่จะเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 70 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ 4 เช่นเดียวกับไทย เช่น บราซิล ชิลี อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้ถอดรายชื่อประเทศไทยออกจากลิสต์ประเทศที่ปลอดภัย (EU White List) จากการระบาดของโควิด-19

 นับเป็นมหาวิกฤตของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ยังคงมืดมนอนธการ ไม่ต่างไปจากอนาคตของประเทศไทยในยามนี้