นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึง
รายได้ของธุรกิจและประชาชน ส่งผลให้ ธปท.จำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันที่ยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้มาตรการที่เดิมเน้นช่วยเหลือระยะสั้นต้องปรับให้เหมาะสมมากขึ้น
โดย ธปท.มองว่ามาตรการช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะสามารถตอบโจทย์ช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวได้มากกว่ามาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ยังเดินต่อในช่วงที่พักชำระ อย่างไรก็ดี การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาในรายละเอียดเป็นการยืดระยะเวลาสินเชื่อ หรือพักชำระหนี้ให้ในระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ในระยะถัดไป ธปท.อยากเห็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การแฮร์คัทหนี้ หรือการลดดอกเบี้ย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การจัดทำมาตรการในดังกล่าว ไม่สามารถทำในลักษณะที่เหมือนกันได้ในทุกกรณี (One Size Fits All) เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี หรือกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ในการปรับโครงสร้างหนี้อาจกินระยะเวลานานกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เบื้องต้นคาดว่าบางวงจรธุรกิจอาจใช้ระยะเวลาไม่นานเพียง 3-6 เดือน แต่บางวงจรธุรกิจอาจกินระยะเวลานานถึง 10 ปี เป็นต้น แต่หากระหว่างทางธุรกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นก็สามารถกลับมาชำระเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะนี้จะช่วยลดความยุ่งยากและระยะเวลาการดำเนินการแต่ละครั้ง จากเดิมที่ลูกหนี้ต้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการเป็นครั้งไป
“อย่าลืมว่ากลุ่มนี้คือลูกหนี้ชั้นดี หากมีแผลเป็นจากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้และลูกหนี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ ธนาคารก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นเดียวกัน ขณะที่การประคับประคองสั้นๆ คงช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้ต่อไปไม่อยู่ ดังนั้น การทำมาตรการช่วยเหลือเรามองว่าควรส่งผ่านไปในระยะยาวมากขึ้น แต่นอกจากมิติด้านเวลาแล้ว จะต้องมีการช่วยเหลือผ่านการแฮร์คัทหนี้ ตัดต้น-ตัดดอกบ้าง และให้ผ่อนจ่ายเบาๆ ก่อนค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นไปเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา”
ในการนี้ ธปท.ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินต่างๆ โดยสามารถดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทันที รวมถึงอยู่ระหว่างหารือร่วมกันเกี่ยวกับการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือการที่สถาบันการเงินไม่ต้องจัดชั้นลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพราะหากเป็น NPL แล้วจะส่งผลให้สถาบันการเงินมีภาระตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามมา เช่น การตั้งสำรองหนี้ เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะครบกำหนดอายุในสิ้นปี 2564
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการจูงใจดังกล่าวจะเห็นความชัดเจนภายในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่คณะกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถดูแลจัดทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)