โควิดหนุนเงินดิจิทัลโต-กัมพูชาเล็ง
เลิกพึ่งดอลล์สหรัฐ ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนการใช้เงินท้องถิ่นช่วยให้ธนาคารกลางกัมพูชาดำเนินนโยบายทางการเงินที่เป็นอิสระและควบคุมปริมาณเงินที่หมุนเวียนในประเทศได้ดีขึ้น
ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อทำให้ระบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการในประเทศมีความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยในยุคที่ระบบดิจิทัลกำลังขยายเข้าไปในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ นั่นเท่ากับว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกเริ่มลดบทบาทลงเรื่อยๆ
จีน ได้ทำการทดสอบหยวนดิจิทัลในเมืองใหญ่หลายเมือง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ประกาศโครงการยูโรดิจิทัลเมื่อเดือนที่แล้วพร้อมทั้งบอกว่าจะใช้เวลาสองปีในการพัฒนาและดูว่าสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง(ซีบีดีซี)จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโลกอย่างไร
ซีบีดีซีเป็นสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถชำระค่าสินค้าและบริการ รักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอย่างบิทคอยน์ อีเธอร์ หรือริปเปิ้ลที่ออกโดยภาคเอกชน และมีมูลค่าผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ซีบีดีซีมี 2 รูปแบบคือ ซีบีดีซีสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน
รายงานวิเคราะห์ในเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ตอนนี้ธนาคารกลางกว่า 60 ประเทศทั่วโลกกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการออกซีบีดีซี และกัมพูชาก็เป็นผู้นำในการแข่งชันด้านนี้ หลังจากธนาคารกลางกัมพูชา(เอ็นบีซี)เปิดตัว“บากอง”สกุลเงินดิจิทัลของประเทศในเดือนต.ค.ปี 2563 ภายใต้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนจากบริษัทโซรามุตสึของญี่ปุ่นโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการยอมรับเงินเรียลซึ่งเป็นเงินสกุลท้องถิ่นของกัมพูชาและค่อยๆลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
“ชี เซเรย์” ผู้อำนวยการธนาคารกลางกัมพูชา กล่าวว่า โครงการบากองซึ่งเปิดดำเนินการในไตรมาสนี้เป็นช่องทางการชำระเงินแห่งชาติของกัมพูชา และมีบทบาทสำคัญในการนำผู้เล่นทุกคนในธุรกิจการชำระเงินเข้ามาอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน เพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้งานปลายทางในการชำระเงิน โดยไม่คำนึงถึงว่าสถาบันการเงินที่พวกเขาทำธุรกรรมด้วยเป็นธนาคารอะไร และในอนาคตจะอนุญาตให้มีการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบบากอง
นับจนถึงเดือนมิ.ย.ผู้ใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบากองเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจากประมาณสามเดือนก่อนหน้านี้เป็น 200,000 ราย ขณะที่ระบบโดยรวมของบากองเข้าถึงผู้ใช้ประมาณ 5.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ รวมถึงผู้ติดตั้งแอพพลิเคชันบนมือถือของธนาคาร และในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีการทำธุรกรรมโดยรวม 1.4 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์
ผู้อำนวยการธนาคารกลางกัมพูชา กล่าวว่า “ยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดในกัมพูชาและรัฐบาลออกมาตรการควบคุมด้านต่างๆทำให้ผู้คนหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีกันมาขึ้น”
อย่างไรก็ตาม บากองมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคริปโตเคอร์เรนซีแบบไร้ศูนย์กลางการควบคุมอย่างบิทคอยน์เนื่องจากโครงการสกุลเงินดิจิทัลของกัมพูชาเป็นระบบปิด ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารของประเทศและหน่วยงานด้านการเงิน ที่สำคัญไม่สามารถนำเงินบากองนี้ไปใช้เพื่อการเก็งกำไรได้
นอกจากนี้ กระเป๋าเงินบากองยังถูกเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคาร ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลของพวกเขา สำหรับสกุลเงินของประเทศ
“การทำธุรกรรมทั้งหมด จะเป็นแบบเรียลไทม์ และจะถูกบันทึก จัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยที่ธนาคารกลาง" ผอ.ธนาคารกลางกัมพูชา กล่าวและเชื่อว่าธนาคารกลางอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาระบบแบบเดียวกับที่กัมพูชาทำอยู่ในตอนนี้
ชาวกัมพูชาสามารถใช้เงินบากองซื้อสินค้าตามร้านค้า หรือส่งเงินผ่านแอพฯมือถือ โดยไม่ต้องใช้เงินสด พร้อมทั้งนำเงินนี้ไปชำระหนี้และส่งเงินนี้กลับประเทศในรูปเงินเรียล หรือ ดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลหลักๆที่กัมพูชาออกเงินสกุลดิจิทัลนี้มาก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศใช้เงินเรียลมากขึ้น
ปัจจุบัน กัมพูชาใช้เงินสองสกุลในการซื้อขายคือเงินเรียลและเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินดอลลาร์สหรัฐได้รับความนิยมและแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า
ชี กล่าวด้วยว่า การใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นประโยชน์กับประเทศในช่วงประเทศกำลังฟื้นตัวจากภาวะสงครามแต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจของกัมพูชาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้เงินท้องถิ่นยังช่วยให้ธนาคารกลางกัมพูชาสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินที่เป็นอิสระได้ต่อไป รวมทั้งควบคุมปริมาณเงินที่หมุนเวียนในประเทศได้ดียิ่งขึ้น
แต่ผู้อำนวยการธนาคารกลางกัมพูชา ก็ยอมรับว่า แม้จะมีการใช้เงินเรียลเพิ่มขึ่้นในการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล นับตั้งแต่มีการเปิดตัวเงินบากอง แต่เงินสกุลดิจิทัลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจกัมพูชาที่พึ่งพาดอลลาร์สหรัฐไปเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเงินสกุลท้องถิ่นได้ ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายอื่นๆเข้ามาช่วย เช่น เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งเนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“ภาระกิจหลักของบากองคือเพิ่มการใช้เงินเรียลในระบบดิจิทัลและมีเป้าหมายระยะยาวอยู่ที่ทำให้ชาวกัมพูชาใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพียงสกุลเดียวในการซื้อสินค้าและบริการ”ผู้อำนวยการธนาคารกลางกัมพูชา กล่าว
ธนาคารกลางกัมพูชา ระบุด้วยว่าขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินบากอง โดยกำลังทำงานร่วมกับธนาคารเมย์แบงก์ของมาเลเซียและธนาคารกลางแห่งประเทศไทย(ธปท.)