นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายแดน เทฮัน รัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ของออสเตรเลีย ผ่านระบบประชุมทางไกล ว่า ออสเตรเลียสนใจจะจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (
FTA) กับออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าเรื่องการลดภาษีระหว่างกันเกือบทุกรายการแล้ว โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) ระหว่างไทยและออสเตรเลีย
ขณะนี้ไทยได้มีการเตรียมการจัดทำข้อตกลงนี้ ใน 7 สาขา ได้แก่ 1 .เกษตรแปรรูป โดยเฉพาะด้านอาหาร 2. การท่องเที่ยว 3. บริการสุขภาพ 4. การศึกษา 5. อีคอมเมอร์ซ 6. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 7. ด้านอื่นๆ เช่น ด้านพลังงาน หรือด้านการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีออสเตรเลียแจ้งว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากได้ข้อสรุปจะเชิญไทยเข้าร่วมลงนามเข้าร่วมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2565
สำหรับเรื่องของการเร่งรัดข้อตกลงอาร์เซ็ป โดยมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น ในส่วนของไทยคาดว่าจะยื่นให้สัตยาบันต่อจากจาการ์ตาในเดือนตุลาคมหรือไม่เกินพฤศจิกายนปีนี้ สำหรับออสเตรเลียจะยื่นได้ในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในต้นปีหน้าตามเป้าหมาย ส่วนปัญหาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก ซึ่งไทยย้ำว่า ไทยมีจุดยืนในเรื่องการสนับสนุนประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน และไม่สนับสนุนการอุดหนุนประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing)
นอกจากนี้ออสเตรเลียได้สอบถามเรื่องการเตรียมเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ โดยไทยได้เตรียม 3 ประเด็นเพื่อผลักดัน ได้แก่ 1. เรื่องการเจรจาหาข้อสรุปการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกเอเปค 2. หาข้อสรุปการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และ 3. การส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศเอเปคภายใต้ทิศทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของไทยนั้นได้ขอให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากขึ้น อาทิ ยางรถยนต์ ซึ่งเป็นโอกาสดีของไทยที่จะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งไทยเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก อาหารแปรรูป ไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ ติด 1 ใน 10 ของโลก และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยที่การส่งออกขยายตัวสูง และออสเตรเลียจะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต และประเด็นที่ 2 ไทยขอให้ออสเตรเลียช่วยสนับสนุนวัคซีนให้กับไทย เนื่องจากออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่และได้สนับสนุนวัคซีนให้กับหลายประเทศ
ทั้งนี้ ไทยกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบปีที่ 69 โดยในปี 2563 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 13,138 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่า 8,426 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว34.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกมูลค่า 5,598 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้ามูลค่า 2,827 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางรถยนต์ และเม็ดพลาสติกสำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ทองคำ อลูมิเนียมและทองแดง ธัญพืช น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ