ต่อชีวิตผู้ป่วยตัวน้อยด้วย 'การปลูกถ่ายตับในเด็ก' (ตอน 1)

ต่อชีวิตผู้ป่วยตัวน้อยด้วย 'การปลูกถ่ายตับในเด็ก' (ตอน 1)

  • 0 ตอบ
  • 81 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Chanapot

  • *****
  • 3237
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 





“ตับ” เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ เช่น เป็นแหล่งสะสมพลังงาน สารอาหาร และวิตามินต่างๆ ควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกาย สร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยและดูดซึมอาหารประเภทไขมัน สร้างโปรตีนช่วยการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ตับยังมีหน้าที่ขจัดยาหรือสารพิษออกจากร่างกาย และทำลายเชื้อโรคที่ผ่านมาทางกระแสเลือดอีกด้วย ซึ่งหากตับเกิดความผิดปกติเรื้อรัง เช่น การอักเสบหรือผังผืด ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจตามมาด้วยการเป็นโรคตับแข็ง หรือตับวายเรื้อรัง และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ในปัจจุบันมีการรักษาโรคตับแข็ง หรือตับวายเรื้อรัง โดยการปลูกถ่ายตับ ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายขาดและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งบทความ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการปลูกถ่ายตับในเด็กเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้เด็กต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ

สาเหตุของ โรคตับแข็ง หรือตับวายเรื้อรัง ที่ทำให้เด็กต้องได้รับการปลูกถ่ายตับมากที่สุดคือ โรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด โดยเด็กจะเริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ตั้งแต่อายุ 1-2 เดือน และมีอุจจาระสีซีด แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคจากการตรวจเลือด อัลตราซาวนด์และฉีดสารทึบรังสีบริเวณท่อน้ำดี

หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด คนไข้จะได้รับการผ่าตัดแก้ไขทางเดินน้ำดีก่อน ซึ่งควรทำในอายุไม่เกิน 2 เดือน จึงจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากบางรายที่การผ่าตัดไม่ได้ผล หรือวินิจฉัยช้า จะส่งผลให้เด็กเป็นโรคตับแข็งตามมา และจะต้องปลูกถ่ายตับภายในอายุ 2-3 ปี ไม่เช่นนั้นเด็กจะเสียชีวิต ซึ่งในอดีตมีเด็กจำนวนหนึ่งต้องเสียชีวิตจากภาวะตับแข็ง เนื่องจากยังไม่มีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ

ภาวะหรือโรคอื่นๆ ที่พบไม่บ่อย แต่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กต้องได้รับการปลูกถ่ายตับได้ เช่น ภาวะตับวายเฉียบพลัน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เด็กจะมาด้วยอาการตัวเหลือง ซึมลง มีเลือดออกผิดปกติ หลังจากที่ให้การรักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับปลูกถ่ายตับ เพื่อการรักษาที่หายขาด โรคตับที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น


การปลูกถ่ายตับ เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ต้องอาศัยทีมสหสาขาวิชาในการประเมินและการดูแลรักษาผู้ป่วย และผู้บริจาค อาทิ เช่น ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ กุมารศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์และกุมารแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ พยาบาลประสานงาน นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน ผลลัพธ์ของการปลูกถ่ายตับในเด็กอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ขั้นตอนการปลูกถ่ายตับเป็นอย่างไร

ตับบริจาคได้มาจากไหน?

การบริจาคตับ ได้มาจากผู้บริจาค 2 ประเภท ได้แก่ ผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย คือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายโดยแจ้งผ่านทางสภากาชาดไทยและมีการกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่ลงทะเบียนปลูกถ่ายอวัยวะไว้ตามความเหมาะสม อย่างเป็นธรรม และอีกประเภท คือ ผู้บริจาคที่มีชีวิต ซึ่งเป็นญาติทางสายเลือดกับคนไข้

ในประเทศไทยผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย ยังมีจำนวนไม่มากนัก และขนาดของตับมักจะไม่เหมาะกับขนาดตัวของเด็ก เพราะการปลูกถ่ายตับมักจะทำในเด็กอายุประมาณ 1-2 ปี ดังนั้นการปลูกถ่ายตับเด็กในประเทศไทยส่วนมากจะใช้ตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ซึ่งเป็นพ่อหรือแม่ หรือญาติทางสายเลือดที่มีกรุ๊ปเลือดเข้ากันได้กับคนไข้

ใครที่บริจาคตับได้บ้าง?

ในการรับตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ความปลอดภัยของผู้บริจาคมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง แพทย์จึงจะประเมินผู้บริจาคอย่างละเอียด โดยผู้บริจาคต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทั้งนี้แพทย์จะประเมินความพร้อมของร่างกาย โดยการตรวจเลือด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นจะวางแผนการผ่าตัดแบ่งตับในขนาดที่เหมาะสมกับคนไข้ และไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้บริจาค รวมทั้งมีจิตแพทย์ร่วมประเมินภาวะของจิตใจว่าผู้บริจาคมีความพร้อมหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องประเมินความพร้อมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยหลังจากปลูกถ่ายตับเรียบร้อยแล้ว


ระหว่างการผ่าตัด

ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาส่วนหนึ่งของตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (หรือตับทั้งหมด ในกรณีที่ได้ตับจากผู้บริจาคสมองตาย) มาใส่ให้กับผู้ป่วย โดยการนำตับเก่าของคนไข้ออก แล้วจึงผ่าตัดตับที่ได้รับบริจาคจากผู้บริจาคเข้าไปทดแทนตับเดิม โดยเย็บต่อเส้นเลือดและท่อน้ำดีเข้าด้วยกัน

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวน่ารู้ของการดูแลผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายตับเรียบร้อยแล้ว ข้อควรระวัง และสิทธิ์การผ่าตัดรักษาด้วยการปลูกถ่ายตับในเด็ก รอติดตามกันนะคะ

@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

ผศ.พญ.ฉัตต์มณี เลิศอุดมผลวณิช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล