นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจดีในการแก้ไข
ปัญหาหนี้ของคนไทยแต่เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังด้วย 2 เหตุผล คือ
1.บทบาทของภาครัฐในฐานะผู้บริหารประเทศ จะเข้าไปมีบทบาทได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ การกู้ยืมนั้นมีกฎเกณฑ์ของตลาดอยู่
2.ความซับซ้อนของปัญหาหนี้เพราะหนี้หลายกลุ่มสะสมมานานก่อนโควิด-19 อาทิ หนี้ครู หนี้ กยศ. รวมถึงหนี้จากเศรษฐกิจไม่ดีและคนไม่มีรายได้พอชำระหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล
แนะแก้หนี้กลุ่มโควิดก่อน
“การแก้ปัญหารัฐบาลต้องแยก 2 เรื่องนี้ เพื่อไปสู้เป้าหมายการแก้หนี้ครั้งนี้ในวิกฤติครั้งนี้ คือ การช่วยคนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ไม่ใช่แก้ปัญหาของอดีตที่สะสมมานาน”
สำหรับการแก้ไขหนี้รัฐบาลต้องมีหลัก 3 เรื่อง คือ 1.การช่วยเหลือของรัฐต้องไม่ทำลายวินัยการกู้ยืม คือ ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องได้รับเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งการช่วยเหลือของรัฐต้องไม่ไปทำลายจุดนี้ เพราะทำให้เกิดการเสียวินัยลูกหนี้และเจ้าหนี้
2.รัฐไม่แทรกแทรงจนทำลายกลไกตลาด เช่น การกู้ยืมผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เป็นระบบเศรษฐกิจมานานแล้ว หากมีปัญหา การช่วยเหลืออาจเป็นการปรับเกณฑ์หรือผ่อนเกณฑ์ ซึ่งทำได้เพราะเป็นแนวทางปกติ แต่หากทำอะไรเพิ่มต้องไม่ทำให้กลไกลตลาดถูกบิดเบือน
3.ไม่สร้างภาระการคลังให้ประเทศ เช่น หากให้ธนาคารรัฐลดดอกเบี้ยอาจทำให้ฐานะการเงินธนาคารรัฐแย่ลงในที่สุดรัฐต้องนำงบมาช่วยธนาคาร ดังนั้นการให้ธนาคารทำอะไรต้องอยู่ในการตัดสินใจเชิงธุรกิจของแต่ละธนาคาร
ปล่อยธปท.หาช่องทางช่วยเหลือ
นายบัณฑิต กล่าวว่า การแก้หนี้กลุ่มที่ทำได้ง่ายสุด คือ กลุ่มหนี้ ธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อเช่าเซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินมีระบบกฎเกณฑ์ดูแล ซึ่งพอเกิดวิกฤติโควิดทุกคนรู้ว่าจะมีปัญหาการชำระหนี้ และ ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารรัฐและเอกชน ดำเนินการหลายอย่าง เช่น ให้สถาบันการเงิน ลดดอกเบี้ย ยืดการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ หากมีมาตการอะไรเพิ่มเติม ธปท.จะทำเองเพราะดูตามสถานการณ์และรู้ว่ามีช่องทางใดช่วยเพิ่มเติม เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยประชาชนตามที่ ธปท.มีหลักเกณฑ์ออกมา โดยหากสถาบันการเงินไหนทำได้มากกว่า เพื่อช่วยเหลือลูกค้าถือเป็นเรื่องดี ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนกฎเกณฑ์ที่ ธปท.และสถาบันการเงินต้องการ
ชงปรับรูปแบบจ่ายหนี้ กยศ.
ส่วนปัญหาหนี้ กยศ.สะสมมานานและผิดนัดชำระสูงสุด โดยมีหนี้เสีย 62% สะท้อน 2 เรื่อง คือ 1.วินัยที่รู้ว่าตัวเองเป็นหนี้แต่ไม่ชำระเพราะมองว่าไม่ชำระหนี้ก็ได้ 2.มีผู้ต้องการชำระแต่วิธีการผ่อนชำระล้าสมัยเพราะให้ชำระปีละครั้งทำให้ไม่คล่องตัวในการชำระ
ดังนั้น กยศ.ต้องปรับรูปแบบชำระให้คล่องตัวเหมือนการชำระหนี้ภาคเอกชน เช่น ผู้มีเงินเดือนประจำให้จ่ายรายเดือนได้ รวมถึงปรับวิธีหรือการชำระหนี้ให้สอดคล้องภาวะปัจจุบันในอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระ เช่น ธนาคารลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้แล้ว กยศ.ต้องลดดอกเบี้ยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ กยศ.เสียเปรียบลูกหนี้สถาบันการเงิน รวมถึงต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้ไม่ได้ชำระมานานและการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
ส่วนการแก้หนี้ของข้าราชการต้องสร้างวินัยในการชำระเงิน เพราะบางคนมีเงินเดือนแต่ไม่นำไปชำระจนบางคนเกษียณแล้วยังไม่จ่ายหนี้ ส่วนผู้ที่ยังทำงานอยู่แต่มีหนี้มากต้องปรับโครงสร้างหนี้ ทบทวนอัตราดอกเบี้ยปรับ มีการไกล่เกลี่ย จะช่วยให้คนที่อยากจ่ายหนี้ แต่ยังไม่คล่องตัวให้ชำระหนี้ได้
ทั้งนี้ แก้ไขปัญหนี้ครัวเรือนที่ตรงจุดที่สุดและแก้ขปัญหายั่งยืน คือ การทำให้คนมีรายได้ มีการสร้างงานให้ผู้ตกงาน เมื่อมีงานทำจะมีเงินมาชำระได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินหลายแสนล้านในการเยียวยาโดยการให้เปล่า ให้คนเอาเงินที่ใช้จ่าย ซึ่งช่วยการบริโภค แต่คนยังไม่มีงานทำ จึงต้องรแจกเงินเยียวยารอบใหม่ ซึ่งมองว่าไม่ควรเพราะไม่ช่วยเศรษฐกิจ
“เงินที่รัฐบาลให้ต้องสร้างงานให้คน ใครอยากไม่อยากเป็นลูกจ้างก็สนับสนุนในการให้สินเชื่อ หรือมีการปรับทักษะของคน ให้สามารถทำงานในส่วนของธุรกิจที่ยังมีการเติบโตได้ในขณะนี้”