ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจน 1.3 ล้านหลังภายในปี 2579

ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจน 1.3 ล้านหลังภายในปี 2579

  • 0 ตอบ
  • 77 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Thetaiso

  • *****
  • 2964
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ภาคอีสาน / ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะได้เดินทางมาที่จังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น เพื่อเยี่ยมเยียนกลุ่มเกษตรกร และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยตั้งเป้าภายในปี 2579 จะแก้ปัญหาให้คนจนทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 1.3 ล้านหลัง

โดยในวันที่ 17 มิถุนายน นายจุรินทร์ได้เดินทางมาที่อำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงที่ชุมชนบ้านมั่นคงทรัพย์เพิ่มพูน ตำบลพันดอน อ.กุมภวาปี ซึ่งมีการจัดงาน “บ้านมั่นคงพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน” และเป็นประธานในพิธีมอบบ้านมั่นคงทรัพย์เพิ่มพูนที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 37 จากทั้งหมด 107 หลัง โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนให้การต้อนรับ


ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจน 1.3 ล้านหลังภายในปี 2579

นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงเป็นงานที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในปี 2543 ซึ่งในขณะนั้นตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการ โดยมีเป้าหมายให้คนจนหรือคนที่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยหรือมีแต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ได้มีโอกาสมีบ้านอยู่ มีที่ดินเป็นของตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการบ้านมั่นคงจึงก่อกำเนิดขึ้นภายใต้หลักการที่มีองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการเป็นการเฉพาะ โดยรัฐบาลช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ประชาชนที่ไร้บ้านไร้ที่ดินรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ และใช้เงินของสหกรณ์เช่าซื้อหรือซื้อที่ดิน เพื่อสร้างบ้านราคาพิเศษให้สมาชิก โดยสมาชิกผ่อนชำระเพื่อจะได้มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง

นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน สร้างบ้านเสร็จแล้วประมาณ 200,000 หลัง แต่ขณะนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ เพื่อเร่งรัดดำเนินการภายใน 15 ปี โดยภายในปี 2579 จะต้องสร้างบ้านให้ได้ 1,300,000 หลัง เพื่อให้คนจนได้มีที่ดินทำกินและมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งเป็นโครงการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณผ่านทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’
“จังหวัดอุดรธานีได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงทั้งหมด 18 โครงการ สร้างบ้านเสร็จแล้ว 1,700 หลัง วันนี้มาทำหน้าที่มอบบ้านมั่นคงที่สร้างเสร็จแล้ว 37 หลัง และมอบเงินสร้างบ้านเพิ่มอีก 70 หลัง ช่วยให้พี่น้องมีบ้านรวม 107 หลัง และมอบเงินช่วยซ่อมแซมบ้านพอเพียงอีก 104 หลัง เป็นเงิน 2 ล้านบาท มอบเงินสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยสมาชิก 7,500 คนอีก 2 ล้านบาท มอบงบพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเรื่องผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด 5 แสนบาท และมอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอีก 300 ครัวเรือน” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยมีเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ประมาณ 3 ล้านครัวเรือน โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการ โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “คนไทยทุกคนจะมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” แยกเป็น 1.การเคหะแห่งชาติดำเนินการในรูปแบบการเช่าหรือเช่าซื้อประมาณ 2 ล้านครัวเรือน 2.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน ตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร บ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพทรุดโทรม) ฯลฯ รวม 1,050,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

บ้านมั่นคงทรัพย์เพิ่มพูนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย 5 ชุมชน

โครงการบ้านมั่นคงทรัพย์เพิ่มพูน เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้าน 5 ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปีที่มีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและมีฐานะยากจน โดยชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2557 จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน ช่วยกันสำรวจข้อมูล พบว่า มีผู้เดือดร้อนจำนวน 732 ราย จาก 5 ชุมชน แบ่งเป็น กลุ่มบุกรุกที่ดินเอกชน 29 ครัวเรือน กลุ่มเช่าที่ดินราชพัสดุสร้างบ้าน 15 ครัวเรือน กลุ่มบ้านเช่า 16 ครัวเรือน และกลุ่มครอบครัวขยาย รวม 107 ครัวเรือน

ต่อมาในปี 2559 ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์เคหสถานทรัพย์เพิ่มพูน จำกัด’ เพื่อเตรียมจัดทำโครงการบ้านมั่นคง มีชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเข้าเป็นสมาชิกจำนวน 107 ครัวเรือน และต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการบ้านมั่นคง


โดยสหกรณ์ฯ ขอใช้สินเชื่อจาก พอช. เพื่อซื้อที่ดิน เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งานเศษ และปลูกสร้างบ้านใหม่ รวม 107 หลัง โดย พอช.สนับสนุน 1.สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้าน รวม 24 ล้านบาทเศษ 2.อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาด้านสาธารณูปโภค และงบบริหารจัดการชุมชน รวม 8.5 ล้านบาทเศษ

ส่วนแบบบ้านมี 2 แบบ คือ 1.บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 10 และ 16.5 ตารางวา ราคาก่อสร้างหลังละ 181,312 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,055 บาท จำนวน 30 หลัง และ 2. บ้านแถวสองชั้น ขนาด 11 ตารางวา ราคาก่อสร้างหลังละ 277,137 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,155 บาท จำนวน 76 หลัง (ผ่อน 15 ปี) เริ่มก่อสร้างบ้านในเดือนธันวาคม 2562 ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 37 หลัง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 70 หลัง ตามแผนงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้

รองนายกฯ ยกเสาเอกบ้านมั่นคงแก่นนคร จ.ขอนแก่น

นอกจากภารกิจที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ในวันนี้ (18 มิถุนายน) นายจุรินทร์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะได้เดินทางมาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมพิธียกเสาเอกสร้างบ้านมั่นคงสหกรณ์เคหสถานแก่นนคร จำกัด อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงเฟสสุดท้าย จำนวน 46 หลัง โดยก่อนหน้านี้สร้างบ้านเสร็จไปแล้วจำนวน 287 หลัง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวม 333 ครัวเรือน

นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช. เป็นองค์กรในการกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2546 เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย สร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนคนจนในเมือง ครอบคลุมทั้งมิติด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความเข้มแข็งของชุมชน

“พอช.มียุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยส่งเสริมให้ชุมชนและเครือข่ายเป็น ‘เจ้าของโครงการ’ ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ตั้งแต่กระบวนการรวมกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การหาที่ดินรองรับ การออกแบบบ้านและผังชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ และการบริหารการเงินด้วยระบบกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์ โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการ” รอง ผอ.พอช.กล่าวถึงกระบวนการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง

รอง ผอ.พอช.กล่าวว่า พอช.จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งรูปแบบในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงมีความหลากหลายตามสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม การรื้อย้ายสร้างชุมชนใหม่ การแบ่งปันที่ดินสร้างชุมชนใหม่ ฯลฯ โดยขณะนี้ พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว 19 จังหวัด 84 เมือง 537 ชุมชน รวม 28,912 ครัวเรือน

“เฉพาะจังหวัดขอนแก่น พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง รวม 75 โครงการ 163 ชุมชน จำนวน 7,057 ครัวเรือน และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ครัวเรือนยากจน กลุ่มคนเปราะบางที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านพอเพียงชนบท ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน จำนวน 831ครัวเรือน ใน 81 ตำบล รวมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนามากกว่า 10 องค์กร” รอง ผอ. พอช.กล่าว